Your Cart

ลดน้ำหนักแล้วผมร่วง เกิดจากอะไร?

ลดน้ำหนักแล้วผมร่วง เกิดจากอะไร?

ปัญหายอดฮิตของคน ลดน้ำหนัก คือ หลังลดน้ำหนักแล้ว ผมร่วง เยอะมาก โดยบางรายร่วงเยอะจนทำให้ผมบางทั่วศีรษะจนเห็นได้ชัด ก่อให้เกิดความเครียด ความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก วันนี้ทีมแพทย์เกศาจะพามาทำความรู้จักกับสาเหตุของผมร่วงที่เกิดจากการลดน้ำหนัก การรักษาและวิธีการป้องกันไม่ให้ผมร่วงหลังลดน้ำหนักค่ะ

ผมร่วงจากการลดน้ำหนัก

ทำไมลดน้ำหนักแล้วผมร่วง

ส่วนใหญ่การลดน้ำหนักที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์มักจะไม่ค่อยมีปัญหาผมร่วงตามมา แต่คนส่วนใหญ่มักลดน้ำหนักโดยใช้ยาลดน้ำหนักหรือการอดอาหารเพื่อควบคุมแคลอรี่ให้ต่ำมากๆหวังผลให้น้ำหนักลดนั่นเอง  ดังนั้นสารอาหารสำคัญไม่ว่าจะเป็น โปรตีน รวมไปถึงวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการงอกของเส้นผมก็ถูกรับประทานได้น้อยลงเช่นกัน

เมื่อร่างกายได้รับพลังงานที่ต่ำกว่าความต้องการ สารอาหารโปรตีนไม่ถึงระดับ และแร่ธาตุวิตามินต่ำลง ร่างกายจึงเข้าสู่สภาวะอดอาหาร โดยจะใช้สารอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดส่งให้อวัยวะที่มีความสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่(Vital organ) เช่น สมอง หัวใจ เป็นอันดับแรก ส่วนเซลล์รากผมไม่ได้ถือว่าเป็นอวัยวะสำคัญ ร่างกายจึงมีการปรับตัวในช่วงที่อดอาหาร ทำให้วงจรการงอกของเส้นผมเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ รากผมระยะเติบโต (Anagen Phase) เปลี่ยนเป็น ระยะหลุดร่วง (Telogen Phase) มากขึ้น เมื่อระยะเวลาผ่านไป 3 เดือน ผมระยะหลุดร่วงจะร่วงออกมาจากหนังศีรษะ ทำให้ปริมาณผมที่ร่วงในแต่ละวันสูงกว่าปกตินั่นเอง บางรายอาจร่วงได้ถึงวันละ 200-700 เส้นเลย ซึ่งภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่า Telogen effluvium หรือภาวะผมร่วงที่มีสาเหตุกระตุ้น นั่นเอง

ลดน้ำหนักยังไง ผมถึงไม่ร่วง

  1. ค่อยๆลดอย่างปลอดภัย

การลดน้ำหนักที่ปลอดภัยต่อร่างกายและเส้นผม ควรลดเพียง 0.5-1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เนื่องจากการลดน้ำหนักที่เร็วเกินไปมักเกิดจากการที่อดอาหารอย่างหนักจนสารอาหารทีได้ต่ำกว่าค่าความต้องการพื้นฐานของร่างกาย(Basal metabolic rate) ร่างกายจึงเข้าสู่ภาวะอดอาหาร ทำให้ผมร่วงรุนแรงตามมาได้

  1. ต้องรับประทานโปรตีนให้ถึงเป้า

เซลล์รากผมต้องการกรดอะมิโนจากโปรตีนในอาหาร ดังนั้นการรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอจึงทำให้ผมร่วงนั่นเอง โดยปกติร่างกายมนุษย์ต้องการโปรตีนเฉลี่ย 0.8-1 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ต่อวัน แต่ในกรณีลดน้ำหนัก ควรรับประทานโปรตีนให้ได้วันละ 1-1.2 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน

ยกตัวอย่าง น้ำหนัก 70 กิโลกรัม อยู่ในช่วงการควบคุมอาหารและลดน้ำหนัก ควรรับประทานโปรตีนให้ได้ 70-84 กรัมต่อวัน

  1. แร่ธาตุสารอาหารผมต้องครบ

เซลล์รากผมนั้นจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุและวิตามินหลายชนิดในการเจริญเติบโต โดยวิตามินที่เป็นตัวสำคัญได้แก่ ธาตุเหล็ก, สังกะสี, ทองแดง, ไบโอติน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุเหล็กนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม ดังนั้นในช่วงที่ลดน้ำหนักควรรับประทานอาหารหรือวิตามินที่มีแร่ธาตุเหล่านี้เสริมร่วมด้วยเพื่อป้องกันภาวะผมร่วง

ผมร่วง

ลดน้ำหนักแล้วผมร่วง รักษายังไง

ปกติแล้วภาวะผมร่วงจากการลดน้ำหนัก จะค่อยๆดีขึ้นเองภายใน 3-6 เดือน แต่กรณีที่ยังคงลดน้ำหนักแบบผิดๆต่อไปเรื่อยๆ ผมมักจะร่วงต่อเนื่องไม่ดีขึ้น ดังนั้นหากใครมีปัญหาผมร่วงจากการลดน้ำหนักแบบผิดวิธี แนะนำให้หยุดการลดน้ำหนักวิธีดังกล่าวก่อน และศึกษาการลดน้ำหนักที่ถูกต้องและปลอดภัยตามที่หมออธิบายไว้ด้านบนนั่นเอง หากร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล เส้นผมจะค่อยๆหยุดร่วงและกลับมางอกใหม่ได้ตามปกติภายใน 6 เดือน

ระหว่างรอผมหยุดร่วงคุณหมอแนะนำงดการย้อมเคมี โกรก ดัดยืดเส้นผมออกไปก่อน และแนะนำเลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนต่อหนังศีรษะ เช่น pH balance และปราศจากสารก่อการระคายเคือง  เพื่อป้องกันภาวะแพ้สารเคมีที่จะส่งผลให้ภาวะผมร่วงเป็นหนักขึ้น

ตรวจเลือดหาสาเหตุผมร่วง

กรณีต้องการให้รากผมกลับมางอกเร็วมากขึ้น หมอแนะนำรับประทานโปรตีนให้ได้ตามเกณฑ์ที่ร่างกายต้องการ และรับประทานวิตามินบำรุงเส้นผมที่มีสารอาหารผมครบถ้วน แต่หากผมร่วงนานเกิน 6 เดือน ร่วมกับมีภาวะผมบางชัดเจน แนะนำทำนัดเข้ามาพบคุณหมอเพื่อเจาะเลือดหาสาเหตุผมร่วงเพิ่มเติมร่วมด้วย

ที่คลินิกเวชกรรมเกศามีนวัตกรรมการรักษาผมร่วงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฉีดบำรุงรากผมเพื่อลดผมร่วง, การฉายแสงเลเซอร์ HEALITE II, การใช้ยาในการรักษา หากใครมีปัญหาผมร่วงหลังลดน้ำหนัก ไม่ต้องกังวลใจนะคะ สามารถทำนัดเข้ามาปรึกษาคุณหมอได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัท เกศา กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด