fbpx

ผมบางกลางศีรษะในผู้หญิง (Female Pattern Hair Loss)

       ผมบางกลางศีรษะในเพศหญิง เป็นโรคผมบางชนิดหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกว่า  Female patten hair loss  หรือที่เรียกว่า ผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะในเพศหญิง หรือบางชื่อเรียกว่า ผมบางพันธุกรรม  โดยโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

สาเหตุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายๆสาเหตุรวมกัน, พันธุกรรมผมบางศีรษะล้านในครอบรัว, ภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง(Hyperandrogenism) เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS, เนื้องอกที่รังไข่, เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หรืออาจไม่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายก็ได้

การดำเนินของโรค

เริ่มแสดงอาการผมบางได้ 2 ช่วงอายุดังนี้

  • Early onset คือภาวะผมบางเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุน้อย มักเริ่มมีอาการผมบางในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่นโรคโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS, บางรายไม่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายเกินแต่มีประวัติพันธุกรรมผมบางที่รุนแรง เช่น คนในครอบครัวศีรษะล้านหรือผมบางตั้งแต่อายุยังน้อยเหมือนกัน
  • Late onset คือภาวะผมบางเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่มีสาเหตุ ไม่ค่อยพบว่ามีภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน และไม่จำเป็นต้องมีประวัติผมบางทางพันธุกรรมก็ได้

อาการ

ส่วนใหญ่ผมจะบางทั่วๆตรงกลางศีรษะโดยแนวผมบริเวณหน้าผากยังปกติ ยกเว้นกรณีผมบางแบบผู้ชาย (frontal type) จะมีผมบางบริเวณง่ามผม ในบางรายอาจมีผมบางมาถึงโซนผมด้านหน้าร่วมด้วยลักษณะคล้ายต้นคริสมาส (Christmas tree pattern) 

ศีรษะ ล้าน

กรณีผมบางในผู้หญิงทุกรายต้องเจาะเลือดเพื่อแยกโรคที่สามารถทำให้ผมบางได้เสมอ เช่น ภาวะโลหิตจาง, โรคไทรอยด์ต่ำ, ไทรอยด์เป็นพิษ, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคซิฟิลิส, กรณีประจำเดือนมาไม่ปกติต้องอัลตร้าซาวด์เพื่อหาโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS ร่วมด้วย

การรักษา

 

ผม บาง

เป้าหมายของการรักษาโรค 

จุดประสงค์ของการรักษาโรคคือการคงสภาพเส้นผมให้มีการเจริญเติบโตปกติ ชะลอการปิดของรูขุมขนให้นานที่สุด เส้นผมที่บางนั้น แปลว่ายังมีรูขุมขนอยู่ คนไข้ต้องคอยบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นเส้นผมจะค่อยๆบางลงเรื่อยๆจนล้านไปตามอิทธิพลของพันธุกรรม รูขุมขนส่วนที่ปิดไปแล้วจะไม่สามารถทำให้กลับมางอกได้อีก หากพื้นที่ล้านเห็นชัดเจน แพทย์อาจแนะนำการปลูกผมถาวรร่วมด้วย

โรคผมบางกลางศีรษะ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยแชมพูหรือเซรั่มตามท้องตลาด มีคนไข้หลายรายลองผิดลองถูกกับการรักษาด้วยตนเอง จนผมที่บางกลายเป็นศีรษะล้าน ทำให้ไม่สามารถรักษาได้แล้ว  ดังนั้นหากใครเป็นโรคนี้ หมอแนะนำว่าควรรีบรักษากับแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคงสภาพเส้นผมให้แข็งแรง เพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน กรณีอายุมากและพิจารณาแล้วว่าภาวะผมบางไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ค่อยหยุดรักษาและปล่อยให้ผมบางไปตามพันธุกรรมที่ควรจะเป็นก็ได้ค่ะ

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

โรคดึงผม (Trichotillomania)

       โรคดึงผม มีชื่อทางการแพทย์ว่า Trichotillomania เป็นภาวะภาวะทางจิตที่สัมพันธ์กับความเครียด ทำให้คนไข้ดึงผมออกจากหนังศีรษะ คิ้ว หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การดึงผมออกจากหนังศีรษะมักทำให้เกิดจุดหัวล้านเป็นหย่อมๆ โดยส่วนใหญ่คนไข้มักไม่ยอมรับว่าดึงผมตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคดึงผม(Trichotillomania) ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อปกปิดการผมที่ร่วงจากการดึง ทำให้เกิดความวิตกกังวลและอับอาย ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต 

ตำแหน่งที่พบการดึง มักดึงตรงกลางกระหม่อม ผมร่วงเป็นหย่อม รูปร่างไม่แน่นอน ผิดธรรมชาติ เช่น ขอบตรง, บริเวณที่ร่วงผมจะขึ้นสั้นยาว ไม่เท่ากัน มีผมขึ้นใหม่เส้นสั้นๆอยู่กลางวง พบรอยแกะเกา สะเก็ดที่หนังศีรษะ และหากดึงบ่อยๆไม่หยุด ผมบริเวณดังกล่าวจะร่วงถาวร (scarring alopecia)

โรคดึงผม

ปัจจัยเสี่ยง

โดยปัจจัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคดึงผม Trichotillomania

  1. ประวัติครอบครัว : พบว่าการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมีผลต่อการเป็นโรคดึงผม โดยพบว่าหากมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้จะมีโอกาสที่คนในครอบครัวจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้
  2. อายุ :  โรคดึงผมสามารถพบได้ทั้งวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วงวัยเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยในเด็กจะสัมพันธ์กับความเครียดและความกังวล ส่วนใหญ่หากมีการตอบสนองต่ออารมย์ที่ถูกต้องจะหายได้เอง ส่วนโรคดึงผมในผู้ใหญ่จะเป็นปัญหาทางจิตใจกลุ่ม compulsive habit ซึ่งพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ต้องได้รับการรักษา 
  3. ความเครียด : สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ตึงเครียดอย่างรุนแรง สามารถส่งผลให้เกิดโรคดึงผมได้ในบางคน
  4. ความผิดปกติอื่นๆ :  โรคดึงผมอาจมีความผิดปกติทางจิตอื่นๆร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ

อาการและการแสดงออกของโรคดึงผม

  1. การดึงผมออกซ้ำๆ โดยทั่วไปแล้วจะมาจากหนังศีรษะ คิ้ว หรือขนตา แต่บางครั้งอาจมาจากส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งบริเวณที่ดึงอาจแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา
  2. ความเครียดที่เกิดจากการอยากหยุดพฤติกรรมดึงผม แต่ไม่สามารถหยุดดึงได้ 
  3. ความรู้สึกโล่งหรือมีความสุขหลังจากดึงผมเสร็จแล้ว
  4. ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน รวมถึงขนตาหรือคิ้วบางลงอย่างเห็นได้ชัด
  5. พยายามหยุดดึงผมซ้ำๆ แต่ไม่สำเร็จ
  6. การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของผู้หญิงที่เป็นโรคดึงผมในช่วงมีประจำเดือน อาจส่งผลให้มีอาการแย่ลงได้

หลายคนที่เป็นโรคดึงผม นอกจากการดึงผมแล้ว บางรายอาจแสดงออกทางพฤติกรรมโดยการแกะผิวหนัง กัดเล็บ หรือเคี้ยวริมฝีปากร่วมด้วย อีกทั้งการดึงขนจากสัตว์เลี้ยง ตุ๊กตา หรือจากวัสดุ เช่น เสื้อผ้าหรือผ้าห่ม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของการควบคุมตนเอง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคดึงผม( Trichotillomania) สามารถแบ่งอาการได้ 2 แบบ ดังนี้

  1. การดึงผมแบบรู้ตัว : บางคนตั้งใจดึงผมเพื่อบรรเทาความตึงเครียดหรือความทุกข์ 
  2. การดึงผมแบบไม่รู้ตัว : บางคนดึงผมโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอยู่ เช่น ขณะที่อ่านหนังสือหรือดูทีวี

โรคดึงผมกับความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ 

  • อารมณ์เชิงลบ

สำหรับคนไข้โรคดึงผมส่วนใหญ่ เป็นการดึงผมเพื่อจัดการกับความรู้สึกด้านลบ หรือความรู้สึกไม่สบายใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อ ความเหงา ความเหนื่อยล้า หรือความคับข้องใจ

  • อารมณ์เชิงบวก 

การดึงผมออกมาเพื่อให้เกิดความรู้สึกดีและช่วยบรรเทาความเครียดได้ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ยังคงดึงผมต่อไป เพื่อรักษาความรู้สึกเชิงบวกเหล่านี้เอาไว้

ภาวะแทรกซ้อน

  1. ความทุกข์ทางอารมณ์ หลายคนทีเป็นโรคดึงผม จะมีความรู้สึกอับอายและขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล 
  2. ปัญหาด้านสังคมและการทำงาน ความอับอายหรือการขาดความมั่นใจอันมีผลมาจากผมร่วง อาจทำให้คุณหลีกเลี่ยงกิจกรรมาทางสังคมและสูญเสียโอกาสในการทำงาน ผู้ที่เป็นโรคดึงผม มักสวมวิกผม สวมหมวกตลอดเวลา และจัดแต่งทรงผม เพื่อปกปิดศีรษะล้าน
  3. ความเสียหายของผิวหนังและเส้นผม การดึงผมอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็น และความเสียหายอื่นๆ รวมถึงการติดเชื่อที่ผิวหนัง บนหนังศีรษะของคุณ หรือบริเวณเฉพาะที่ดึงผม และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมอย่างถาวร 
  4. การกลืนผม คนไข้บางรายหลังจากดึงผมแล้วยังมีการกลืนเส้นผมตัวเองอีกด้วย เรียกว่า Trichophagia การกินผมสะสมเรื่อยๆจะทำให้เกิดก้อนผมขนาดใหญ่ (Trichobezoar) ในทางเดินอาหาร ส่งผลให้น้ำหนักลด อาเจียน ลำไส้อุดตัน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ 

หากใครที่มีปัญหาดึงผมโดยที่ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการดึงผมได้ หรือรู้สึกขาดความมั่นใจเกี่ยวกับรูปลักษณ์ หน้าตา ที่มีผลมาจากพฤติกรรมการดึงผม ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากโรคดึงผม ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเพียงท่านั้น แต่ยังป็นโรคที่มีผลมาจากภาวะทางจิต ซึ่งอาการจะไม่ดีขึ้นหากไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง

การรักษาผมร่วงผมบางจากการดึงผม

  • โดยทั่วไปหากหยุดพฤติกรรมดึงผมได้ ผมที่ถูกดึงก็จะกลับมางอกปกติ
  • แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยากลุ่ม  Minoxidil เพื่อกระตุ้นให้รากผมงอกเร็วขึ้นและใช้วิตามินบำรุงผมที่มีแร่ธาตุที่ช่วยในการเจริญเติบโตของรากผมร่วมด้วยเพื่อบำรุงรากผมให้แข็งแรง 
  • เนื่องจากกการดึงผมซ้ำๆจะทำให้เกิดหนังศีรษะเป็นแผล ดังนั้นแชมพูที่แนะนำ ควรเลือกแชมพูสูตรอ่อนโยนที่ไม่สารก่อการระคายเคือง SLS/SLES/Paraben/Perfume 
  • กรณีที่ดึงผมซ้ำๆจนรากผมเสียหายถาวร เกิดเป็นแผลเป็น (scarring alopecia) จะไม่สามารถรักษาให้เส้นผมกลับมางอกได้ ต้องใช้การปลกผมถาวร
โรคดึงผม โรคดึงผม

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : ปลูกผมคนในเครื่องแบบ

ผมร่วงจากโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

          กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ  Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) คือกลุ่มอาการที่พบได้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางเชื้อชาติ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรือหลากหลายปัจจัย โดยกลไกการเกิดโรคเกิดจาก ความผิดปกติที่ทำให้เกิดภาวะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมจึงมาไม่ปกติ, ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้น ทำให้มีการแสดงออกลักษณะคล้ายเพศชาย, มีความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินตามมา

อาการแสดง

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยมาห่างผิดปกติโดยมีประจำเดือนน้อยกว่า 8 ครั้งใน 1 ปี,ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยหลังจากที่มีการขาดประจำเดือนหลายเดือน
  • มีลักษณะฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่น ใบหน้ามีสิว ผิวหน้ามัน มีขนตามลำตัว หนวดเคราเข้ม ผมร่วง/ผมบางคล้ายผู้ชาย 
  • มีลักษณะอาการแสดงของภาวะดื้ออินซูลิน เช่น ข้อพับตามคอ รักแร้ ใต้ราวนม มีสีเข้มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ พบลักษะถุงน้ำในรังไข่หลายๆใบ

ภาพอัลตราซาวด์เปรียบเทียบรังไข่ปกติ กับ ถุงน้ำรังไข่หลายใบ

ที่มาภาพ : www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140673607613452/fulltext

ความเสี่ยงสุขภาพเมื่อเป็นโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

  • มีบุตรยาก เนื่องจากมีภาวะไข่ตกไม่สม่ำเสมอ
  • มีความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนาตัวและมะเร็งเยื่อบุมดลูก
  • มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 
  • มีความเสี่ยงโรคเมแทบอลิกซินโดรม(metabolic syndrome) หรือภาวะอ้วนลงพุง ที่จะนำมาสู้ปัญหาโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะผมบางจากโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (โรคผมบาง PCOS)

       ผู้หญิงที่มีปัญหาผมบางกลางหนังศีรษะ จะมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Female pattern hair loss โดยจะมีลักษณะผมบางเด่นบริเวณกลางหนังศีรษะ ในบางรายอาจมีผมบางมาถึงโซนผมด้านหน้าร่วมด้วยลักษณะคล้ายต้นคริสมาส (Christmas tree pattern) ซึ่งอาจจะมีหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากหลายๆปัจจัยร่วมกัน(multifactorial), การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะผมบางกลางหนังศีรษะได้ ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุของภาวะผมบาง

       ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) มักพบปัญหาผมร่วงผิดปกติจนทำให้ผมบาง โดยภาวะผมบาง PCOS เกิดจากการที่มีฮอร์โมนเพศชาย androgen สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแสดงผมร่วงกลางหนังศีรษะคล้ายผมบางพันธุกรรมในเพศชายนั่นเอง

“ผมบางพันธุกรรมในเพศชายกับผมบางในผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง(PCOS) มีความแตกต่างกันคือ ผมบางPCOS จะยังคงเหลือรากผมบางส่วน ไม่ล้านทั้งหมดแบบเพศชาย ทำให้มีโอกาสรักษาแล้วผมจะกลับมางอกอีกครั้ง”

 

 

การรักษาโรค PCOS

    • รับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อปรับฮอร์โมนให้กลับมาปกติ ทำให้มีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือน และยาคุมกำเนิดชนิดที่มี cyproterone acetate จะสามารถลดฮอร์โมนเพศชาย (Anti-androgen effect) ทำให้ได้ประโยชน์เรื่องสิว ผิวมัน ขนดก และผมร่วง ซึ่งควรรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
    • กรณีคนที่ต้องการมีบุตร แนะนำพบแพทย์เฉพาะทางด้านภาวะมีบุตรยาก 
    • ตรวจหาโรคเบาหวานและโรคเมแทบอลิกซินโดรม อย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบภาวะดื้ออินซูลิน แพทย์จะให้รับประทานยาที่ช่วยลดการดื้ออินซูลินร่วมด้วย
    • ควบคุมน้ำหนักให้ดัชนีมวลกายปกติ โดยการควบคุมอาหารและ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดภาวะอ้วนลงพุงและความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

“โรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (PCOS) ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่าจะรักษาหายได้เมื่อไร โรคนี้มีความเกี่ยวข้องและกระทบกับหลายระบบในร่างกาย อาการแสดงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นหมอแนะนำว่าไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เฉพาะทางและใช้เวลาในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง”

การรักษาภาวะผมบางจากโรค PCOS

  • Minoxidil รูปแบบทา และ รูปแบบรับประทาน Very low dose

      ตัวยา Minoxidil จะไม่สามารถรักษาโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ(PCOS) ได้โดยตรง แต่minoxidil ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดใต้หนังศีรษะ และยืดอายุผมระยะเติบโตได้ ทำให้ผมร่วงลดลง และช่วยให้รากผมกลับมาแข็งแรงขึ้น หากใช้ต่อเนื่อง ผมที่บางจะกลับมามีความหนามากขึ้น หากต้องการให้เส้นผมที่ความแข็งแรงไปตลอด จำเป้นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากหยุดใช้ยาเส้นผมจะกลับมาหลุดร่วงและบางเหมือนตอนที่ยังไม่ได้รักษา

  • คีโตโคนาโซลแชมพู

      แชมพูที่แนะนำให้คนที่มีปัญหาผมบางจากโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบใช้คือ 2% คีโตโคนาโซลแชมพู ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดความมันบนหนังศีรษะได้จึงเหมาะกับคนไข้กลุ่มนี้ที่มักมีปัญหาผิวแลหนังศีรษะมันมากกว่าปกติ และกรณีใช้อย่างต่อเนื่องมีรายงานว่าแชมพูคีโตโคนาโซลสามารถลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายบริเวณรูขุมขนบนหนังศีรษะได้อีกด้วย

  • การรักษาทางเลือกอื่นๆภายใต้ดุลพินิจของแพทย์

      ในบางกรณีแพทย์อาจเลือกใช้ยาที่มีผลกับฮอร์โมนเพศชายมาใช้ร่วมด้วย เช่นในรายที่ใช้ minoxidilแล้วไม่ตอบสนองร่วมกับมีตรวจพบฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูง ยกตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดฮอร์โมนเพศชาย 

  • นวัตกรรมบำรุงรากผมด้วย Growth factor 

      สำหรับบางรายที่รักษาด้วยการทายาหรือรับประทานยาและยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามความต้องการอีกทางเลือกที่สามารถทำควบคู่กับการรักษาหลักคือ PRP/PRF ซึ่งเป็นนวัตกรรมบำรุงรากผมโดยการสกัดเกล็ดเลือดเข้มข้นจากพลาสมา ที่จะทำให้ได้สาร Growth factor จากเลือดของคนไข้เอง แล้วนำมาฉีดบริเวณผมที่บาง โดยการฉีด PRP/PRFเป็นที่ยอมรับและมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสามารถรักษาปัญหาผมร่วงได้

      อีกนวัตกรรมเฉพาะที่คลินิกเวชกรรมเกศาคือ PLACENTECH ซึ่งเป็นการสกัด Growth factor จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้ได้ Growth factor ที่มีความเข้มข้นสูง ผ่านมาตรฐานการแพทย์ นำมาฉีดยังบริเวณที่มีปัญหาผมบาง 

      แสงเลเซอร์ความถี่ต่ำ Low level laser therapy เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน โดยกลไกการทำงานคือ แสงเลเซอร์จะปลดปล่อยพลังงานที่จำเพาะกับรากผม ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้รากผมแข็งแรง ลดผมร่วง และช่วยรักษาภาวะผมบางได้ โดยปัจจุบันมีการผลิตหมวกเลเซอร์ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยแนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์

      ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีหลักแล้วไม่ดีขึ้น ร่วมกับการส่องกล้องแล้วพบว่ารูขุมขนบริเวณดังกล่าวปิดไปแล้ว กรณีนี้จะไม่สามารถทำให้ผมบริเวณนั้นกลับมางอกได้อีก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การปลูกผมเพื่อย้ายรากผมที่แข็งแรงมาปลูกแทรกบริเวณที่บาง ทำให้ผมดูหนาขึ้นได้ 

      ใครที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง ร่วมกับภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ แนะนำพบคุณหมอสูตินรีเวชเพื่ออัลตร้าซาวด์หาโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) และหากถูกวินิจฉัยเป็นโรคนี้ การรักษาผมบางจะต้องทำควบคู่กับการรักษาโรค PCOS ด้วย ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ตรงกับโรคแล้ว ยังเป็นการปล่อยให้ตัวโรค PCOS ดำเนินต่อไป ทำให้เกิดผลกระทบกับหลายระบบในร่างกายอีกด้วย

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัท เกศา กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

จริงหรือไม่? การตัดผมหรือการเล็มปลายผมบ่อยๆ จะทำให้ผมยาวเร็วขึ้น

การ ตัดผม หรือ การ เล็มปลายผม บ่อยๆ จะทำให้ ผมยาว เร็วขึ้น” เชื่อว่าหลายต่อหลายคนมักจะได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ และคุณเคยสงสัยมั้ยว่าคำพูดเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ 

วันนี้ #kesahair มีคำตอบมาฝากทุกคนกันค่ะ

ตัดผม เล็มปลายผม ผมยาวไว

การตัดผมหรือการเล็มปลายผมจะช่วยทำให้ผมยาวเร็วขึ้นนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ เนื่องจากเส้นผมของคนเรางอกออกมาจากเซลล์รากผมบริเวณรูขุมขนบนหนังศีรษะ การตัดผมหรือการเล็มปลายผมจึงไม่ได้ส่งผลต่อรูขุมขนบนหนังศีรษะแต่อย่างใด  แต่ประโยชน์ของการตัดเล็มผมอยู่เสมอจะช่วยลดการแตกปลายของเส้นผม ทำให้เส้นผมดูสุขภาพดี และเงางามขึ้น  ดังนั้นแนะนำเล็มปลายผม 1 ซม. ทุกๆ 8 – 10 สัปดาห์ และไม่ต้องกังวลว่าการเล็มผมบ่อยๆจะทำให้ผมสั้นลงนะคะ เพราะโดยปกติเส้นผมของคนเรานั้นจะยาวประมาณ 1 ถึง 1.5 ซม. ต่อเดือน ดังนั้นถึงแม้จะตัดเล็มผมประจำ ผมก็ยังยาวออกมาเรื่อยๆค่ะ

รู้หรือไม่? วิตามินบางชนิดสามารถช่วยทำให้ผมยาวเร็วขึ้นได้ วิตามินเหล่านั้นได้แก่ ซิงค์ ไบโอตินและซิลิกา ซึ่งช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือดบริเวณรากผม และกระตุ้นการงอกของเส้นผม ส่งผลให้เส้นผมแข็งแรงและยาวเร็ว นอกจากรับประทานวิตามินเสริมและอย่าลืมรับประทานให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายและสุขภาพผมดีไปพร้อมๆ กันนะคะ

Kesahair มีเคล็ดลับการดูแลเส้นผมให้ยาวอย่างได้ผลมาแนะนำทุกคนกันค่ะ >>> ผมหายอยากได้คืน

แต่สำหรับใครที่กำลังมีปัญหาผมร่วง ผมบาง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม อย่ารอให้ปัญหาขยายกว้าง เพียงแก้ปัญหาให้ถูกจุด เกศา แฮร์โซลูชั่น คลินิกของเรา ยินดีช่วยดูแล แก้ไขปัญหาเส้นผมให้ทุกท่านได้ทุกสาเหตุ ช่วยกู้ปัญหาผมเสียให้กลับมาสวยได้ดังเดิมได้ไม่ยากอย่างที่คิดแน่นอน อย่าลืมลองเข้ามาปรึกษากันดูนะคะ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเส้นผม

-คนปกติมีเส้นผมบนหนังศีรษะ 90,000-140,000 เส้น (เฉลี่ยประมาณ 100,000 เส้น)
-ผู้ใหญ่ผมยาวได้วันละประมาณ 0.35 มิลลิเมตร ดังนั้น 1 เดือนจะยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
-เด็กผมยาวเร็วกว่าผู้ใหญ่ โดยจะยาววันละ 0.41 มิลลิเมตร และผู้หญิงผมยาวเร็วกว่าผู้ชาย 0.02 มิลลิเมตร/วัน
-ในคนปกติผมร่วงได้ไม่เกิน 100 เส้น แต่ถ้าวันไหนสระผม อาจร่วงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือไม่เกิน 200 เส้น/วัน
-1 รากผมจะมีเส้นผมได้ตั้งแต่ 1-4 เส้น

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวงจรเส้นผม

ระยะแรก เรียกว่า ระยะเจริญ หรือ อะนาเจน (Anagen)

ต่อมรากผมจะสร้างเซลล์ซึ่งทำให้เส้นผมงอกขึ้น ยาวขึ้น ช่วงเวลานี้จะอยู่ระหว่าง 3- 7 ปี หลังจากนั้นจะเข้าสู่ผมระยะหยุด หรือ คะตาเจน (Catagen) หรือ ระยะหยุดการเจริญเติบโตของเส้นผม หากระยะเจริญ หรือ อะนาเจนของเส้นผมอยู่ระยะยาวนานเท่าไหร่ ต่อมรากผมก็จะยังสามารถผลิตเส้นผมได้นานมากขึ้น และผมก็จะยาวและหนาแน่นขึ้นได้ แต่หากระยะดังกล่าวสั้นลง เส้นผมจะเข้าสู่ระยะพักเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาของการหลุดร่วงของเส้นผมเกิดขึ้นเร็วขึ้น ผมเกิดใหม่ก็จะสั้น และบาง ขาดความแข็งแกร่ง จึงทำให้มีภาวะอาการศรีษะล้านก่อนวัยอันควร

ระยะต่อมา เรียกว่า ระยะหยุด หรือ คะตาเจน (Catagen) 

ระยะนี้จะกินเวลาไม่นานนัก จะเป็นช่วงสั้นๆที่ปลายของรากผมจะเคลื่อนตัวสู่ชั้นผิวหนัง เส้นผมจะเติบโตช้าลงและค่อยๆหยุดที่จะเติบโตไปในที่สุด ในระยะนี้อาจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 1 จากจำนวนเส้นผมทั้งหมดบนหนังศรีษะ โดยในแต่ละเส้นจะมีอายุในช่วงระยะนี้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงเข้าสู่ระยะพัก

ระยะพัก เป็นระยะที่ 3 ของวงจรชีวิตผม เรียกว่า (Telogen)

ระยะนี้เป็นระยะที่เซลล์รากผมนั้นตายแล้ว เส้นผมในระยะนี้ จะเตลื่อนและฝังตัวบริเวณใกล้เคียงกับพื้นผิวหนังเพื่อรอการหลุดร่วง พร้อมๆกับกำลังจะมีเส้นผมเกิดใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ระยะเจริญ ซึ่งจะมาผฃักให้เส้นผมที่ตายแล้วได้หลุดร่วงออกไป ในกรณีทั่วไปเส้นผมจะร่วงโดยประมาณ 50 ถึง100 เส้นต่อวัน โดยเส้นผมบนหนังศรีษะในระยะนี้จะมีจำนวนประมาณ ร้อยละ 10 ถึง 15 โดยเส้นผมในระยะนี้จะมีอายุอยู่ได้ประมาณไม่เกิน 3 เดือน

ระยะสุดท้าย คือ ระยะเริ่มเจริญใหม่ หรือ (Early Anagen)

เมื่อเส้นผมของคนเราหลุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามวงจรชีวิตของเส้นผมเช่นนี้เรื่อยไปทุกๆวัน แต่เมื่อสูงวัยมากขึ้น วงจรเส้นผมนี้จะมีระยะเวลากระชับสั้นลงเรื่อยๆตามวัยที่สูงขึ้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้รากผมนั้นอ่อนแอลง เส้นผมงอกใหม่ก็ขาดความแข็งแรงไม่เหมือนเมื่อครั้งอ่อนวัย ดังนั้น เราจึงต้องบำรุงและดูแลรักษาเส้นผม บำรุงลึกถึงรากผม เพื่อสร้างความแข็งแรงและยืดระยะเวลาช่วงอายุของเส้นผมตามวงจรชีวิตเส้นผมให้ยาวนานขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาสุขภาพที่ดีของเส้นผมไว้ได้นานขึ้น ผมหลุดร่วงช้า ผมก็จะดกดำและหนาแน่นอย่างเป็นธรรมชาติ ลดปัญหาผมแก่ อ่อนแอ หงอก เปราะบาง หลุดร่วงไปตามวัยและสุขภาพของแต่ละคน

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัท เกศา กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

ผู้สูงอายุปลูกผม ผลลัพธ์จะเหมือนวัยรุ่นไหม?

ผู้สูงอายุปลูกผม ผลลัพธ์จะเหมือนวัยรุ่นไหม?

ผู้สูงอายุปลูกผม หรือ ผู้ชายในวัยสูงอายุ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา “ผมร่วง” สามารถมั่นใจได้ว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปลูกผมแต่อย่างใด ไม่มีคำว่า “แก่เกินไป” ที่จะรักษาด้วยการปลูกผม ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถรักษาอาการผมร่วงด้วยการปลูกผมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย อาทิ กรรมพันธุ์ ปริมาณเส้นผม และโรคประจำตัวต่างๆ

ผู้สูงอายุปลูกผม

🔴 เมื่อผู้ชายวัยสูงอายุตัดสินใจปลูกผม

ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปอาจจะมีความคาดหวังผลลัพธ์ในการปลูกผม ให้ย้อนวัยกลับไปเหมือนตอนช่วงอายุ 20 ปี แต่ความเป็นไปได้นั้น ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของอาการผมร่วงและช่วงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการปลูกผมและต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ด้านดังนี้

  • ระดับความรุนแรงของศีรษะล้านและปริมาณเส้นผมที่เหลืออยู่

ปริมาณเส้นผมของคนไข้ ถือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อายุที่มากขึ้น ผมที่เหลืออยู่ตามธรรมชาติจะมีปริมาณน้อยกว่าช่วงวัยหนุ่ม และผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาผมบางศีรษะล้านที่รุนแรงมากกว่า  ทำให้การแก้ปัญหาด้วยการปลูกผม จะต้องคำนึงถึงปริมาณผมที่เหลือ หากปริมาณผมมีน้อย จะต้องมีการออกแบบ hair line และใช้ความหนาแน่นที่ล้อไปกับปริมาณผมที่เหลืออยู่นั่นเอง 

  • การออกแบบ Hair line

การออกแบบทรงผมในผู้สูงอายุ แพทย์จะมีการออกแบบทรงผม เน้นความธรรมชาติให้เข้ากับช่วงอายุนั้นๆ เช่น การกำหนดทรงผมที่สูงขึ้นเล็กน้อย และใช้ความหนาแน่นที่พอดี ให้เข้ากับความหนาแน่นของผมเดิมของคนไข้ เพราะอายุที่มากขึ้น ความหนาแน่นของเส้นผมก็จะเริ่มน้อยลง  แต่ในบางรายที่ต้องการทรงผมที่ดูย้อนวัยมากๆ ก็สามารถทำได้หากปริมาณผมด้านหลังเพียงพอ 

  • โรคประจำตัว

ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งต้องรับประทานยารักษาต่อเนื่อง การปลูกผมถือเป็นการผ่าตัดเล็กที่ค่อนข้างปลอดภัย หากมีโรคประจำตัวแต่รับประทานยาต่อเนื่อง ควบคุมตัวโรคได้ดี ก็ไม่ถือเป็นข้อห้ามในการปลูกผม แต่อย่างไรก็ตามหากมีโรคประจำตัวแนะนำให้แจ้งแพทย์และนำยาที่รับประทานอยู่มาให้แพทย์ดูด้วย เพื่อวางแผนการปลูกผมให้มีความปลอดภัยสูงสุดนั่นเอง  

สำหรับผู้ชายอาการผมร่วงผมบางสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยสูงอายุ จากรายงานข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าผู้ชายส่วนใหญ่เลือกที่จะรักษาอาการผมร่วงด้วยตนเอง เช่นซื้อแชมพูลดผมร่วง และเซรั่มตามท้องตลาดมาใช้แก้ปัญหาผมร่วง จนปัญหาผมร่วงผมบางลุกลามไปเรื่อยๆจนเกิดพื้นที่ล้านจนต้องมาปลูกผม ซึ่งจริงๆแล้วปัญหาผมร่วงผมบางถือเป็นปัญหาสุขภาพทางการแพทย์ที่สามารถรักษาได้ ดังนั้นแนะนำรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ และรักษาอย่างต่อเนื่องกับแพทย์ จะช่วยให้คุณผู้ชายมีบุคลิกที่ดีและมีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น 

เห็นไหมคะ ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงอายุไหนก็สามารถเข้ารับการรักษาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน ด้วยการปลูกผมได้ อย่ารอให้ปัญหาขยายกว้าง เพียงแก้ปัญหาให้ถูกจุด เกศา แฮร์โซลูชั่น คลินิกของเรา ยินดีช่วยดูแล แก้ไขปัญหาเส้นผมให้ทุกท่านได้ทุกสาเหตุ ช่วยกู้ปัญหาผมเสียให้กลับมาสวยได้ดังเดิมได้ไม่ยากอย่างที่คิดแน่นอน อย่าลืมลองเข้ามาปรึกษากันดูนะคะ

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัท เกศา กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : ปลูกผมคนในเครื่องแบบ

โรคผมร่วงเป็นหย่อม Alopecia Areata

โรคผมร่วงเป็นหย่อม  (Alopecia Areata) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไปทำลายเซลล์รากผมของตัวเอง (Autoimmunity) ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม อาจจะมีหย่อมเดียว หรือหลายๆหย่อมก็ได้ และสามารถเกิดได้กับรากผมหรือขนทุกส่วนของร่างกาย เช่น ขนตา ขนคิ้ว ขนรักแร้ และขนหัวหน่าว  ในรายที่มีอาการมาก คือ ผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) มีขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วงจนหมดร่วมด้วย (Alopecia Univesalis) 

โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆได้ เช่นโรคภูมิแพ้ โรหอบหืด โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว และมีรายงานว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆกัน สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิดเฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม

 

 

ลักษณะอาการ

  1. ผมร่วงเป็นหย่อม ขอบเขตชัด เป็นรูปวงกลมหรือวงรี  
  2. บริเวณที่ผิวหนังที่ผมร่วงมีลักษณะเรียบเลี่ยน ไม่มีการอักเสบแดงหรือลอกเป็นขุย
  3. คนไข้บางรายเส้นผมอาจเปลี่ยนเป็นสีขาวร่วมด้วย เนื่องจากโรคนี้มีผลต่อเซลล์ที่สร้างเม็ดสีของผม  
  4. ส่องกล้อง Dermoscope พบเส้นผมขนาดสั้นเรียวเล็กคล้ายเครื่องหมายตกใจ  
  5. ในคนไข้บางรายอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย เช่นเล็บเป็นหลุม พบได้ 10-60%

 

การรักษา 

  1. ผมร่วงเป็นหย่อมสามารถหายเองภายใน 6 เดือน กรณีที่ผมร่วงบริเวณกว้างมักไม่หายเอง ต้องได้รับการรักษา
  2. การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรคและดุลพินิจของแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
    • การฉีดยาบริเวณรอยโรค ทุก 4 – 6 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการรักษาหลักในรายที่เป็นไม่มาก
    • ทายากลุ่มสเตียรอยด์ที่มีความแรงระดับปานกลางขึ้นไป
    • ทายากระตุ้นรากผม 3-5% Minoxidil lotion
    • ทายากดภูมิคุ้มกัน เช่น Anthralin, DPCP
    • การฉายแสง UVA
    • การรับประทานยากดภูมิคุ้มกันในรายที่เป็นรุนแรง

 

การพยากรณ์โรค  

ส่วนใหญ่แล้วการพยากรณ์โรคดี ยกเว้นในกรณีต่อไปนี้

  1. บริเวณผมร่วงเกิน 50% ของพื้นที่หนังศีรษะ 
  2. ผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือผมและขนร่วงทั้งร่างกาย (Alopecia Universalis)
  3. ระยะเวลาการดำเนินของโรคเกิน 1 ปี
  4. มีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย
  5. คนไข้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองร่วมด้วย
  6. ผมร่วงเป็นแถบบริเวณชายผมโดยรอบ (Ophiasis) 
  7. ประวัติเป็นซ้ำหลายครั้ง
  8. ช่วงอายุที่ผมร่วงเป็นหย่อมเกิดก่อนวัยรุ่น 

 

ข้อแนะนําสำหรับคนไข้

  • คนไข้ 30-50% อาจหายได้เองภายใน 6 เดือน – 1 ปี
  • กรณีต้องเข้ารับการรักษา แนะนำติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี
  • เมื่อหายแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หรือมีผมร่วงใหม่บริเวณอื่นได้ 
  • ภาวะการเจ็บป่วยและอาการเครียดอาจกระตุ้นให้เป็นโรคมากขึ้น 
  • หากผมร่วงเป็นรุนแรงแนะนำคนไข้สวมวิก/แฮร์พีชร่วมด้วย

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : ผมร่วงหลังติดเชื้อโควิด

อาหารลดผมร่วง

“อาหารลดผมร่วง” การบำรุงเส้นผมด้วยแชมพูหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผมเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่พอ ในระยะยาวก็ต้องอาศัยปัจจัยภายใน คือสุขภาพที่แข็งแรงร่วมด้วย เนื่องจากปัญหาผมขาดหลุดร่วง ผมบาง อาจมีสาเหตุมาจากร่างกายที่ไม่แข็งแรง ความเครียด หรือการขาดสารอาหารบางชนิด ซึ่งการจะมีเส้นผมที่แข็งแรง สวย เงางามได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพ รวมถึงอาหารที่เลือกรับประทานด้วย

วันนี้ Kesahair มี 9 อาหารลดผมร่วง ที่ช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง สุขภาพดี มาฝากกันค่ะ

อาหารลดผมร่วง

  1. ไข่

ไข่ อุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญต่อเส้นผม ทั้งโปรตีน วิตามิน D, A และ บี12 ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง ลดการหลุดร่วงของเส้นผมได้ และยังมีสารคาโรทีนอยด์ ที่มีส่วนสำคัญในการงอกของเส้นผมอีกด้วย

 

  1. ไขมันจากปลา

ปลาที่มีไขมันชั้นดี ได้แก่  ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล และปลาเฮอริ่ง เป็นแหล่งกรดไขมันโอเมก้า 3 และประกอบไปด้วย โปรตีน, วิตามิน D3, ซีลีเนียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม สามารถช่วยบำรุงเส้นผมให้เงางาม กระตุ้นการงอกใหม่ของเส้นผมได้อย่างดี

 

  1. ถั่ว

ถั่ว อุดมไปด้วยไบโอติน ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมและป้องกันผมร่วง

ถั่ว 1/4 ถ้วยมีโปรตีนมากถึง 9 กรัม เส้นใย 4 กรัม และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย

 

  1. ผักโขม

ผักโขม อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แมกนีเซียม โฟลิก และวิตามิน B  ช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม และซ่อมแซมเส้นผมที่เสียให้กลับมาสวยเงางาม อีกทั้งยังมีวิตามิน C ซึ่งช่วยปกป้องเยื่อหุ้มเซลล์ของรูขุมขน

 

  1. อะโวคาโด

อะโวคาโด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีต่อการเจริญเติบโตของสุขภาพเส้นผม เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินอี ที่ช่วยทำให้หนังศีรษะมีสุขภาพดี และยังช่วยมอบความชุ่มชื่นให้กับรูขุมขนบนหนังศีรษะ ทำให้เส้นผมเงางามอย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นส่วนผสมสำคัญที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของมาสก์ผมอีกด้วย

 

  1. เมล็ดแฟลกซ์

เมล็ดแฟลกซ์ อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีส่วนช่วยบํารุงหนังศีรษะและป้องกันผมแห้ง

 

  1. มันเทศ

มันเทศ อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเปลี่ยนเป็นเป็นวิตามิน A ที่ช่วยบำรุงสุขภาพของหนังศีรษะ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยทำให้ออกซิเจนไหลเวียนบำรุงรากผมได้ดีอีกด้วย

 

  1. พริกหวาน

พริกหวาน อุดมไปด้วยวิตามิน C ที่มีส่วนช่วยในการผลิตคอลลาเจน ทําให้เส้นผมแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยปกป้องเส้นผมจากสาร Oxidative Stress  อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามิน A ที่ช่วยเร่งการผลิตไขมันและทําให้เส้นผมมีสุขภาพดี

 

  1. หอยนางรม

หอยนางรมอุดมไปด้วยสังกะสี มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมวงจรของเส้นผม

 

นอกจากแร่ธาตุในอาหารแล้ว ปัจจุบันมีการสกัดแร่ธาตุวิตามินต่างๆมาอยู่ในรูปแบบอาหารเสริม ดังนั้นหากต้องการรับประทานอาหารเสริมก็ลองมองหาส่วนผสมตามที่แจ้งข้างต้นมาลองทานร่วมกันได้ คนที่มีโรคประจำตัวอย่าลืมปรึกษาเภสัชกรและแพทย์ก่อนเสมอ  แต่สำหรับใครที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน เกินที่จะแก้ไขด้วยวิธีการบำรุงด้วยวิตามินแล้ว แนะนำรักษากับคุณหมอ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดเหมาะกับปัญหาเส้นผมของแต่ละคนค่ะ

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : ผมร่วงไม่หายซักที อาจเกิดจากภาวะพร่องธาตุเหล็ก!!

ความเครียด ปัญหาสำคัญของอาการ ผมร่วง

“ความเครียด ปัญหาสำคัญของอาการ ผมร่วง” ความเครียดเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนเรามากขึ้น แต่ละคนก็จะมีความเครียดที่แตกต่างกันไป ทั้งความเครียดจากการเรียน ความเครียดจากการทำงาน ความเครียดจากปัญหาส่วนตัว รวมไปถึงความเครียดจากการเจ็บป่วย ซึ่งความเครียดเหล่านี้ล้วนทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้

เนื่องจากเส้นผมของเรานั้น มีความอ่อนไหว ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และฮอร์โมน ดังนั้นความเครียดจึงส่งผลต่อรากผม

 

ความเครียด ผมร่วง

 

โดยอาการผมร่วงที่เกิดจากความเครียด เกิดได้จาก 2 สาเหตุ ดังนี้

  1. Telogen Effluvium เป็นภาวะผมร่วงจากการที่รากผมเผชิญกับความเครียด ไม่ว่าจะเป็นจากความเครียดของร่างกายขณะเจ็บป่วย ที่เจอได้บ่อยๆมากในช่วงนี้คือผมร่วงหลังการติดเชื้อโควิด,การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น หลังคลอดบุตร, และความเครียดทางอารมณ์ ซึ่งความเครียดเหล่านี้จะส่งผลทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน รากผมบางส่วนจะหยุดการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผมร่วงมากกว่าปกติ 2-3 เท่า
  2. Trichotillomania เป็นภาวะผมร่วงที่เกิดจากดึงผมตัวเอง หากกลุ่มคนเหล่านี้มีความเครียด วิตกกังวล หรือเบื่อหน่าย ก็มักจะมีอาการดึงเส้นผมตัวเองแบบไม่รู้ตัว ส่งผลให้ผมร่วงหายไปเป็นหย่อม หากดึงซ้ำๆมีโอกาสหัวล้านได้ แนะนำผู้ที่มีปัญหาดึงผมตัวเอง ปรึกษาคุณหมอเพื่อรับยากลุ่มคลายกังวล คลายเครียดร่วมด้วย

เมื่อรู้แล้วว่าความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของการผมร่วง แต่ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นอย่างถาวร หากคุณสามารถจัดการกับปัญหาความเครียดได้ เส้นผมของคุณก็จะกลับมาแข็งแรงดังเดิม แต่ถ้าสังเกตอาการผมร่วงของตนเองแล้วมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ถึงอาการที่เกิดขึ้น เพราะเส้นผมที่ร่วงผิดปกติอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาบางอย่างได้

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเส้นผม

– คนปกติมีเส้นผมบนหนังศีรษะ 90,000-140,000 เส้น (เฉลี่ยประมาณ 100,000 เส้น)
– ผู้ใหญ่ผมยาวได้วันละประมาณ 0.35 มิลลิเมตร ดังนั้น 1 เดือนจะยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
– เด็กผมยาวเร็วกว่าผู้ใหญ่ โดยจะยาววันละ 0.41 มิลลิเมตร และผู้หญิงผมยาวเร็วกว่าผู้ชาย 0.02 มิลลิเมตร/วัน
– ในคนปกติผมร่วงได้ไม่เกิน 100 เส้น แต่ถ้าวันไหนสระผม อาจร่วงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คือไม่เกิน 200 เส้น/วัน
– 1 รากผมจะมีเส้นผมได้ตั้งแต่ 1-4 เส้น

ระยะการเจริญเติบโตของเส้นผม

• ระยะ Anagen hair เส้นผม 90% บนหนังศีรษะจะอยู่ในระยะนี้ โดยจะมีอายุขัย 2-3ปี
• ระยะ Catagen&Telogen จะเป็นระยะที่หยุดเจริญเติบโต มีอายุขัย ประมาณ 3 เดือนแล้วหลุดร่วงไป
• ระยะหลังจากผมหลุดร่วง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนกว่าจะมีผมงอกใหม่ให้เห็นด้วยตาเปล่า

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : ผมหาย อยากได้คืน

รังแค (Dandruff)

รังแค คือลักษณะขุยหรือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ เกิดจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะ สาเหตุของการเกิด รังแค ยังไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเชื้อราชื่อ Malassezia โดยผู้ป่วยที่มีปัญหา รังแค จะมีเชื้อราชนิดนี้มากกว่าคนปกติ ทำให้เกิดการเร่งผลัดเซลล์ผิวเร็วกว่าปกติ จึงเกิดเป็นขุยขาวสะสมอยู่บริเวณหนังศีรษะและเส้นผม

ในคนที่มีปัญหา รังแค ธรรมดา หนังศีรษะมักจะไม่พบการอักเสบ หากพบ รังแค ร่วมกับมีการอักเสบของหนังศีรษะมักเป็นโรคผิวหนัง เช่น โรคเซ็บเดิร์ม, โรคสะเก็ดเงิน, ภาวะแพ้สารเคมีที่สัมผัสหนังศีรษะ เช่น แชมพู เซรั่ม น้ำยาย้อม/ดัดผม (contact dermatitis)

 

รังแค

 

วิธีป้องกัน รังแค

  • เลี่ยงการสระผมด้วยน้ำอุ่น เนื่องจากน้ำอุ่นจะทำให้หนังศีรษะแห้งและลอกเป็นขุย
  • หลังสระผมควรรีบเป่าด้วยลมเย็นให้แห้ง เพราะจะเกิดความอับชื้นได้
  • เลี่ยงการเกาแรง ๆ หรือใช้หวีซี่คมหวีบริเวณหนังศีรษะ
  • เลี่ยงการใช้แชมพู เซรั่ม หรือน้ำยาย้อม/ดัดผมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

การเลือกแชมพูเพื่อรักษา รังแค

  • มองหาส่วนผสมในยาสระผมที่ช่วยรักษารังแคได้แก่ ketoconazole, selenium sulfide ,Tar, Zinc pyrithione
  • แชมพูเหล่านี้อาจทำให้ผมแห้งแข็งกระด้าง แก้ไขโดยใช้ครีมนวดบริเวณปลายผม
  • แนะนำควรหมักทิ้งไว้ 3-5 นาทีเพื่อให้ยาออกฤทธิ์แล้วล้างออก
  • ผู้ที่เป็นรังแคควรใช้ยาสระผมเหล่านี้เป็นประจำ โดยช่วงอาการกำเริบ ควรสระผม 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หลังจากโรคสงบ ลดเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ

เคล็ดลับจากคุณหมอ

คนส่วนใหญ่พอใช้แชมพูยา รังแคหายก็เลิกใช้ ทำให้รังแคกลับมาเป็นอีก ก็จะบ่นกันว่า ใช้อะไรก็ไม่หายขาดเสียที อย่างที่หมอบอกว่าคนที่มีปัญหารังแคส่วนใหญ่เกิดจากการที่มียีสต์บนศีรษะเยอะกว่าคนปกติ ดังนั้นจะมีปัญหา รังแค เป็นๆหายๆไปตลอดค่ะ หมอแนะนำถ้าหายแล้วอย่าลืมใช้แชมพูยา สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเพื่อคุมรังแคให้สงบไปตลอดนะคะ

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : โรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปลูกผมคนในเครื่องแบบ

ปลูกผมคนในเครื่องแบบ

อาชีพทหาร ตำรวจ ก็มีปัญหาผมบาง ศีรษะล้านไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ การปลูกผมในกลุ่มอาชีพนี้ จะมีความยากกว่าเคสทั่วไปเพราะคนไข้ต้องตัดผมสั้นติดหนังศีรษะตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสมองเห็นรอยแผลเป็นจากย้ายรากผม ไม่ว่าจะเป็นวิธี FUT หรือ FUE ก็ล้วนมีแผลเป็นทั้งสิ้น

  • Follicular unit transplantation (FUT) เป็นการผ่าตัดเอาหนังศีรษะด้านหลังออกมาเป็นแถบ รอยแผลเป็นจะเป็นลักษณะรอยยาวตลอดแนวผม
  • Follicular unit extraction (FUE) เป็นการย้ายรากผมโดยใช้หัวเจาะขนาดเล็ก เจาะรากผมบริเวณท้ายทอยและดึงออกมาทีละกอโดยไม่มีการผ่าตัด รอยแผลเป็นจะมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆกระจายทั่วหนังศีรษะ

คลินิกเวชกรรมกศามีเทคนิคการปลูกผมเฉพาะ ตอบโจทย์การปลูกผมคนในเครื่องแบบ ดังนี้

  • ใช้หัวเจาะขนาดเล็กพิเศษ

ขนาดหัวเจาะรากผมที่ใช้ จะเลือกใช้ขนาดเล็กพิเศษ 0.6-0.8 mm. ทำให้แผลด้านหลังมีขนาดเล็ก เวลาตัดผมสั้นรอยแผลที่เกิดขึ้นจึงมองเห็นได้ค่อนข้างยาก และข้อดีของการใช้หัวเจาะเล็กพิเศษ คือแผลฟื้นตัวไว ภายใน 3 วันแผลจะเริ่มปิด ทำให้คนไข้ไม่ต้องลางานหลายวัน

  • เทคนิคเจาะรากผมเฉพาะ ผมดูไม่บาง

มีการเจาะรากผมแบบกระจาย สลับกอรากผมแบบมีระเบียบ รอยเจาะจึงเท่ากันทั่วทั้งศีรษะ  ทำให้เวลาตัดผมสั้น แล้วความหนาแน่นของผมดูสม่ำเสมอกัน

 

  • บริการ KIT สักปิดรอยแผลเป็น

ในกรณีบางรายที่ต้องการเก็บรอยแผลเป็นให้เนียน สามารถเข้ารับการทำ KIT (Kesa Ink Transplantation) ซึ่งเป็นการฝังเม็ดสีทางการแพทย์ลงบนหนังศีรษะเป็นจุดๆเลียนแบบตอผมบริเวณรอยแผลเป็น ทำให้เก็บรอยแผลเป็นให้มองเห็นได้ยากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ 6เดือนขึ้นไปหลังปลูกผม

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

 

7 วิตามินที่ต้องมีในอาหารเสริมบำรุงผม [ วิตามินบำรุงผม ]

หลายคนที่มีปัญหาผมร่วงเยอะ ผมบอบบางอ่อนแอ มีข้อสงสัยถามหมอตลอดว่าควรซื้อวิตามินบำรุงผมชนิดไหนมาดูแลผมของเราดี เพราะในท้องตลาดมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือก บทความนี้หมอจะมาพูดถึง “7 วิตามินที่ต้องมีในอาหารเสริมบำรุงผม” ที่มีงานวิจัยรองรับว่าช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของเส้นผมนะคะ

  1. Zinc

ช่วยในการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์รากผม

  1. Biotin (vitamin B7)

ช่วยสร้างชั้นผิวเคอราตินให้เส้นผม ทำให้ผมดูเงางาม เส้นอวบขึ้น

  1. Iron

วงจรของรากผมจะเป็นปกติ และเส้นผมจะเจริญได้ดีนั้น ร่างกายต้องมีระดับธาตุเหล็กในร่างกาย(Ferritin level)อย่างน้อย 70 ug/ml หากต่ำกว่านี้จะทำให้ผมร่วงได้

  1. Silicon

กระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง

  1. Selenium

กระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง มีฤทธิ์ antioxidant

  1. Vitamin A

กระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง มีฤทธิ์ antioxidant

แต่กรณีรับประทานวิตามินเอในปริมาณสูงเกินไปจะมีผลทำให้ผมร่วงได้

  1. Vitamin C

มีฤทธิ์ antioxidant และช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก

วิตามิน

 

ปกติวิตามินเหล่านี้ มีอยู่ในอาหารที่เรารับประทานทุกวัน แต่กรณีบางคนมีปัญหาผมและไม่แน่ใจว่ารับประทานอาหารได้ครบถ้วนหรือไม่ การรับประทานอาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็สามารถช่วยได้ ดังนั้นหากท่านใดกำลังมองหาวิตามินอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงเรื่องเส้นผม หมอแนะนำให้อ่านฉลากดูว่ามีส่วนผสมของวิตามินเหล่านี้หรือไม่ค่ะ แนะนำหายี่ห้อที่มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างครบในเม็ดเดียว จะได้ไม่ต้องไปหาซื้อหลายๆขวดมาทาน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียดควบคู่ด้วยนะคะ

 

แนะนำ : วิตามินบำรุงผม Fallicare plus

วิตามินบำรุงผม

Facebook : Follicare ผลิตภัณฑ์สำหรับผมร่วง ผมบาง

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

สาเหตุผมร่วง กับหลากหลายวิธีการรักษา

ผมร่วงหนักมากทำไงดี!!อยากให้คุณหมอช่วยบอก”สาเหตุผมร่วง”ว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง และมีวิธีการรักษาอย่างไร?

หมอเชื่อว่า ทุกคนต้องเคยมีปัญหาผมร่วง โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่เดินไปที่ไหน ทุกซอกทุกมุมของห้องก็เต็มไปด้วยเส้นผม ผมร่วงสะสมทุกวันจนท่อระบายน้ำตัน ผมร่วงเยอะจนเก็บไปฝัน ร่วงหนักจนนึกว่าเป็นมะเร็ง!!! วันนี้หมอมีหลากหลายวิธีการรักษามาแนะนำกันคะ ^^

ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่า ผมร่วงแบบไหนถือว่าผิดปกติ

  • ผมร่วงปกติ : ปกติผมคนเราต้องร่วงทุกวัน เพราะบนหัวเรามีผมระยะหลุดร่วงอยู่ประมาณ 10 % ดังนั้นใน 1วัน หากร่วงไม่เกินวันละ 50-100 เส้น ถือว่าปกตินะคะ ส่วนวันที่สระผมอาจร่วงได้ถึง 2 เท่าเลยค่ะ
  • ผมร่วงผิดปกติ: คือผมร่วงที่มากเกิน 100 เส้นในวันที่ไม่สระผม และเกิน 200 เส้นในวันที่สระผม

สาเหตุผมร่วง

สาเหตุผมร่วงผมบางที่พบได้บ่อย

  • ผมร่วงผมบางศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์

พบได้ในคนที่มีกรรมพันธุ์ผมบาง เกิดได้ทั้งชายและหญิง โดยผมจะค่อยๆร่วงร่วมกับเกิดภาวะผมบางศีรษะล้านตามรูปแบบกรรมพันธุ์  เพศชายจะล้านบริเวณง่ามผมและบริเวณกลางหนังศีรษะ ส่วนเพศหญิงจะบางบริเวณแสก รอยแสกจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มียารักษาที่ช่วยชะลอให้ตัวโรคดำเนินช้าลงได้ โรคนี้หมอแนะนำให้รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะคงสภาพเส้นผมให้อยู่นานที่สุด

หลายคนที่มีปัญหาผมบางกรรมพันธุ์ มักเข้าใจผิดว่าเกิดจาก ภาวะเครียดสะสม หรือการใส่หมวกนานๆ ซึ่งจริงๆแล้ว การใส่หมวกนานๆจะทำให้ผมร่วงได้ก็ต่อเมื่อ มีการสะสมของความอับชื้นจนทำให้เกิดการติดเชื้อรา ถึงจะส่งผลให้เกิดผมร่วงได้ ส่วนความเครียดส่งผลให้ผมร่วงได้บ้าง แต่ไม่มีส่วนทำให้เกิดภาวะศีรษะล้าน

 

  • ผมร่วงจากการแพ้แชมพูเซรั่ม แพ้สารเคมีในการย้อมผม ดัดผม ยืดผม

เกิดจากการแพ้สารประกอบในผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น สารก่อฟอง สารกันเสีย สารให้ความลื่นของเส้นผม น้ำหอม สารเคมีที่ใช้ในการกัดสี ดัด ยืดผม ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้เกิดการอุดตันบริเวณรูขุมขนและก่อการระคายเคือง ส่งผลให้มีปัญหาสิว หนังศีรษะอักเสบ และผมร่วงตามมาได้  ในรายที่มีการแพ้รุนแรงจะมีอาการแสบร้อน มีตุ่มน้ำใสและหนังศีรษะลอกร่วมด้วย เมื่อหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพ้ อาการจะดีขึ้นเอง

 

  • ผมร่วงจากโรคประจำตัว

โรคทางกายบางอย่างสามารถส่งผลให้เกิดผมร่วงร่วมได้ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ภาวะขาดธาตุเหล็ก โรคซิฟิลิส โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคถุงน้ำรังไข่Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) แนะนำพบแพทย์เพื่อซักประวัติและเจาะเลือดหาสาเหตุในรายที่มีอาการเข้าได้กับแต่ละโรค

 

  • ผมร่วงจากการใช้ยาบางชนิด

การรับประทานยาบางชนิดต่อเนื่อง ทำให้เกิดผมร่วงได้ ยกตัวอย่างยาที่ทำให้ผมร่วงได้บ่อยคือ ยารักษาสิว ยารักษาโรคทางจิตเวช ยารักษาโรคลมชักเป็นต้น

 

  • ผมร่วงจากการลดน้ำหนัก/รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่/ขาดธาตุเหล็ก

การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือการรับประทานอาหารมังสวิรัติ อาหารคีโต เป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงได้ เนื่องจากร่างกายขาดสารอาหารบางประเภท ทำให้วงจรของผมร่วงผิดปกติ

การขาดธาตุเหล็กส่งผลทำให้ผมร่วงผิดปกติ เนื่องจากธาตุเหล็กมีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ประวัติที่ทำให้สงสัยว่ามีปัญหาขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ ประวัติประจำเดือนมามากทุกเดือน ไม่ทานเนื้อสัตว์ ไม่ทานเครื่องในสัตว์ หรือประวัติบริจาคโลหิตเป็นประจำแต่ไม่ทานธาตุเหล็กเสริม(ลิงค์เข้า บทความผมร่วงจากการขาดธาตุเหล็ก)

 

  • ผมร่วงหลังคลอด ผมร่วงจากการเจ็บป่วย ผมร่วงจากความเครียด

เรียกภาวะนี้ว่า Telogen effluvium เกิดจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรุนแรง เช่น การคลอดบุตรการเสียเลือดปริมาณมาก ไข้เลือดออก ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ภาวะเครียดรุนแรง ส่งผลให้วงจรผมที่เป็นระยะเติบโตกลายเป็นระยะหลุดร่วง พอผ่านไป 3 เดือน ผมระยะหลุดร่วงจะหมดอายุขัยแล้วหลุดร่วงออกจากหนังศีรษะนั่นเอง ซึ่งจะร่วงได้ถึงวันละ 150-700 เส้น ดังนั้นหากใครผมร่วงหนักมาก แล้วย้อนไป 3 เดือนที่แล้วมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ก็จะเป็นภาวะนี้นั่นเองค่ะ

 

  • ผมร่วงจากการโรคผิวหนัง

โรคผิวหนังบริเวณหนังศีรษะที่ทำให้เกิดผมร่วง ยกตัวอย่างเช่น โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ, โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม, โรคผมร่วงเป็นหย่อม,โรคผมร่วงจากการอักเสบFrontal Fibrosis Alopecia,โรคลูปัส(DLE)

 

 

วิธีการรักษาผมร่วง ผมบาง

วิธีการรักษาผมร่วง มุ่งเน้นรักษาตามสาเหตุ ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เพือหาสาเหตุผมร่วงทีแท้จริง โดยปัจจุบันการรักษาโรคผมร่วง ผมบางนั้นมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ดังนี้

 

สาเหตุผมร่วง

 

เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาผมร่วง แต่ยังไม่มีปัญหาผมบาง โดยปกติเส้นผมต้องการสารอาหารที่ช่วยให้วงจรการงอกของเส้นผมเป็นไปอย่างปกติ ดังนี้

  • Zincช่วยในการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์รากผม
  • Biotinช่วยสร้างชั้นผิวเคอราตินให้เส้นผม ทำให้ผมดูเงางาม เส้นอวบขึ้น
  • Iron วงจรของรากผมจะเป็นปกติ และเส้นผมจะเจริญได้ดีนั้น ร่างกายต้องมีระดับธาตุเหล็กในร่างกาย(Ferritin level)อย่างน้อย 70 ug/ml หากต่ำกว่านี้จะทำให้ผมร่วงได้
  • Siliconกระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง
  • Seleniumกระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง มีฤทธิ์ antioxidant
  • Vitamin Aกระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและช่วยให้เส้นผมแข็งแรง มีฤทธิ์ antioxidant แต่ถ้ารับประทานวิตามินเอปริมาณสูงจะมีผลทำให้ผมร่วงได้
  • Vitamin Cมีฤทธิ์ antioxidant และช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก

ดังนั้นใครที่มีปัญหาผมร่วง แนะนำทานอาหารให้ครบ5หมู่และเน้นเสริมอาหารที่มีแร่ธาตุตามที่กล่าวไปข้างต้น หรือใช้การรับประทานวิตามินเสริมก็ได้เช่นเดียวกันค่ะ แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร

 

  • รักษาผมร่วงด้วยการทายา

เหมาะสำหรับผมร่วงร่วมกับมีปัญหาผมบางระยะเริ่มต้นโดยยาทาที่มีงานวิจัยรองรับว่าสามารถช่วยให้เส้นผมงอกได้คือ ไมนอกซิดิลซึ่งมีความเข้มข้น2-5%นอกจากนั้นยังมีสารสกัดรูปแบบทาอื่นๆที่ช่วยให้เส้นผมงอกได้ เช่น ฟิแนสเทอไรด์, Capixyl , Biothymus-M,Saw palmetto

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดมากมายที่โฆษณาว่าช่วยลดผมร่วงได้ หมอแนะนำให้ตรวจสอบสารประกอบและเชคเลข อย. เสมอ เพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้

 

  • รักษาผมร่วงด้วยการรับประทานยา

ยารับประทานสำหรับรักษาผมร่วงผมบางมีหลากหลายชนิด ขึ้นกับสาเหตุตัวโรค ต้องอาศัยการตรวจร่างกายและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน หลายคนซื้อยาปลูกผมตามอินเตอร์เน็ตมารับประทานเอง ซึ่งมักจะโฆษณาว่า “ยาปลูกผมเห็นผลภายใน…เดือน” แต่กลับไม่มีชื่อยาใดๆกำกับอยู่ ซึ่งหมอขอแนะนำว่าการรับประทานยาใดๆ ผู้ที่ทานจำเป็นต้องทราบชื่อยา เนื่องจากหากมีผลข้างเคียงหรือมีอาการแพ้ยาจะได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และที่พบบ่อยคือการซื้อยาตามคำแนะนำของคนรู้จัก โดยไม่เคยไปพบแพทย์เลย ซึ่งแบบนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะการรับประทานยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 

ปัจจุบันมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการใช้โกรทแฟคเตอร์ที่สกัดมาจากเลือดสามารถช่วยฟื้นฟูรากผมที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรง และช่วยลดผมร่วงได้ แนะนำใช้ควบคู่กับการรักษาตามมาตรฐาน เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน

 

แสงเลเซอร์ความถี่ต่ำLow level laser therapy เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน โดยกลไกการทำงานคือ แสงเลเซอร์จะปลดปล่อยพลังงานที่จำเพาะกับรากผม ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้รากผมแข็งแรง ลดผมร่วง และช่วยรักษาภาวะผมบางได้ โดยปัจจุบันมีการผลิตหมวกเลเซอร์ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยแนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์

 

การปลูกผมเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหารูขุมขนปิดไปแล้ว หรือที่เรียกว่าศีรษะล้านนั้นเอง โดยการปลูกผมมี 2 วิธีหลักๆคือ FUT  และ FUE

  • Follicular unit transplantation (FUT) เป็นการผ่าตัดเอาหนังศีรษะด้านหลังออกมาเป็นแถบ และใช้กล้องจุลทรรศน์ตัดแบ่งรากผมให้เป็นกอ แผลเป็นจะมีลักษณะแถบยาว
  • Follicular unit extraction (FUE) เป็นการย้ายรากผมโดยใช้หัวเจาะขนาดเล็ก เจาะรากผมบริเวณท้ายทอยและดึงออกมาทีละกอโดยไม่มีการผ่าตัด แผลเป็นจะมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆกระจายทั่วหนังศีรษะ หากไว้ผมยาวก็จะมองไม่เห็นแผลเป็นดังกล่าว

คลินิกเวชกรรมเกศา ใช้การปลูกผมวิธี Follicular unit extraction (FUE) โดยมีเทคนิคพิเศษเฉพาะของทางคลินิก คือ Triple N Technique ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการปลูกผมธรรมชาติ“ปลูกแน่น เน้นผลลัพธ์ธรรมชาติ แผลเล็ก ฟื้นตัวไว”

  • ปลูกแน่น หมายถึง ปลูกถี่แน่นสวย เพราะใช้ความหนาแน่นสูงสุด 60 กราฟ/ตร.ซม.
  • เน้นผลลัพธ์ธรรมชาติ มีทีมแพทย์ออกแบบ Hair line โดยให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่ออกมาดูธรรมชาติ เข้ากับโครงหน้า และอายุของคนไข้ พร้อมตกแต่งกราฟก่อนปลูกทุกต้น
  • แผลเล็ก ฟื้นตัวไว เนื่องจาก ใช้หัวเจาะรากผมขนาดเล็ก 0.6-08 mm ทำให้แผลหายไว ฟื้นตัวเร็วภายใน 3 วันและหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์

หลายคนมักกลัวการปลูกผม เพราะกลัวว่าจะเจ็บ แต่จริงๆแล้วการปลูกผม จะมีความรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเฉพาะขั้นตอนการฉีดยาชาเท่านั้น หลังจากยาชาออกฤทธิ์ก็จะไม่มีความรู้สึกแล้ว และหลายคนยังมีความสงสัยว่าปลูกผมแล้วผมจะขึ้นถาวรจริงๆหรือ?หมอขอตอบว่า ผมที่ย้ายมาจะอยู่ถาวร มีการร่วงและงอกใหม่ตามวงจรผมปกติ ส่วนอัตราการรอดของรากผมที่ย้ายมาทางคลินิกรับประกันอยู่ที่ 90-95% โดยอัตราการรอดของกราฟจะขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้ ความชำนาญของแพทย์ทั้งในขั้นตอนการเจาะรากผมและขั้นตอนการปลูกผม รวมไปถึงการดูแลหลังปลูกด้วย

 

ในคนที่ผมบางมากจนเกิดพื้นที่ล้านและมีข้อจำกัดในการปลูกผม ทางเลือกอื่นๆที่สามารถช่วยได้คือ การสักอณูไรผมบริเวณที่มีปัญหาศีรษะล้าน โดยการสักอรูไรผมจะมีการสักสีลงบนหนังศีรษะเป็นจุดๆเลียนแบบตอผม ซึ่งทำให้เสริมความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้คนไข้ได้

 

กรณีไม่สามารถรักษาด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นได้ อีกทางเลือกที่สามารถใช้ได้คือ การสวมวิกและแฮร์พีช

 

สุดท้ายอยากฝากให้ทุกคนที่ไม่ไมทราบสาเหตุผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน แนะนำให้เข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนะคะ เพื่อที่จะได้รับการรักษาให้ตรงกับสาเหตุ และควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆเพราะหากปล่อยไว้ อนาคตจะมีโอกาสที่เป็นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีทางเลือกในการรักษาน้อยลง

.

**กดแชร์บทความด้านล่าง เพื่อบอกต่อสิ่งดี ๆ**

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

Verified by MonsterInsights