ผมร่วง จากโรค เซ็บเดิร์ม เป็นปัญหาผิวเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เกิดจากการอักเสบบริเวณต่อมไขมัน(Seborrheic Dermatitis) โดยมากกว่า 50% ในผู้ใหญ่มักพบปัญหารังแค ขุยแห้งสีเหลืองบริเวณหนังศีรษะ ส่งผลให้ ผมร่วง ผิดปกติได้ นอกจากนั้นอาการเป็นขุยสีเหลืองยังพบได้ในบริเวณอื่น โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก เช่น ใบหน้า คิ้ว รอบดวงตา หู จมูก แก้ม เจอในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคภุมิคุ้มกันบกพร่องHIV, โรคพาร์กินสันและโรคทางระบบประสาทอื่นๆ
ปัจจัยกระตุ้นให้โรค เซ็บเดิร์ม กำเริบ
- การเพิ่มจำนวนของยีสต์บนผิวหนังชื่อ Malassezia
- ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย
- การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น เย็นจัดหรือร้อนจัด (มักกำเริบตอนอากาศเย็น และ แห้ง)
- การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความเครียด นอนพักผ่อนไม่พอ
- อาหารบางชนิดและแอลกอฮอล์
อาการของโรค ผมร่วง เซ็บเดิร์ม
- หนังศีรษะแห้ง แดง ขุยสีเหลือง มีสะเก็ดลอกหลุดคล้ายรังแค
- มีอาการคันหนังศีรษะร่วมกับผมร่วงผิดปกติ แต่ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ผมบางลง
- ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดงขอบเขตไม่ชัดบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก


หนังศีรษะพบลักษณะ ผิวแห้งเป็นขุยสีเหลือง มีสะเก็ดลอกหลุดคล้ายรังแค
การรักษาโรค ผมร่วง เซ็บเดิร์ม
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ตัวโรคกำเริบ
- ใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน ปราศจาก น้ำหอมและสารก่อการระคายเคือง เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเซ็บเดิร์มมักจะมีปัญหาหนังศีรษะแพ้ง่ายและไวต่อสิ่งกระตุ้นในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำหอม สารกันเสีย
- ใช้แชมพูยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา โดยใช้แชมพูยาปริมาณ 5-10 ซีซี สระผมและหมักทิ้งไว้ 5 นาทีก่อนล้างออก โดยช่วงที่ตัวโรคกำเริบ แนะนำสระผมด้วยแชมพูยา วันเว้นวัน
- กรณีมีอาการรุนแรง สะเก็ดหนามาก แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาทากลุ่มเสเตียรอยด์ร่วมด้วย เพื่อลดอการการอักเสบของหนังศีรษะ
“โรคเซ็บเดิร์มไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อตัวโรคสงบแล้ว แนะนำให้คนไข้ใช้แชมพูที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและลดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งสลับกับแชมพูสูตรอ่อนโยนไปตลอดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ”


*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*