โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็นดีแอลอี Discoid Lupus Erythematosus หรือ DLE เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โดยภูมิคุ้มกันจะทำลายเซลล์ผิวหนังชั้น Basal cell layer ของตัวเอง โดยโรคนี้ถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง สามารถพบการทำลายเซลล์ผิวหนังได้ที่ใบหน้า ลำตัว และหนังศีรษะ กรณีหนังศีรษะหากเกิดDLE จะส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วงและเกิดแผลเป็นตามมาได้ ทำให้เกิดผมหายถาวร โดยโรคนี้ถูกกระตุ้นได้ด้วยการโดนแสงแดด และการสูบบุหรี่
อาการ โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็นดีแอลอี
- มักพบในวัยผู้ใหญ่ เพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- เริ่มต้นด้วยการเป็นผื่นสีแดง มีสะเก็ดมาอุดรอบๆรูขุมขน หากไม่ได้รับการรักษาจะเริ่มมีการยุบตัวของผิวหนังศีรษะ ผมร่วงหายไปเป็นหย่อม ขอบเขตชัดเจน และเกิดแผลเป็นถาวร (Cicatricial alopecia)
- พบการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณที่เป็น ตรงกลางหย่อมผมร่วงจะมีสีอ่อน ส่วนบริเวณขอบจะมีสีน้ำตาลเข้ม
- มีอาการคันหรือเจ็บหนังศีรษะร่วมด้วยได้
- มักเกิดผื่นดีแอลอีบริเวณผิวหนังนอกร่มผ้าที่สัมผัสแสงแดด
การวินิจฉัย โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็นดีแอลอี
- การตรวจชิ้นเนื้อจากบริเวณหนังศีรษะ(Biopsy) ส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันวินิจฉัย
- การตรวจเลือดเพื่อหาโรคที่อาจเกิดร่วมกันได้ คือโรคเอสแอลอี หรือที่รู้จักกันว่า โรคพุ่มพวง
การรักษา โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็นดีแอลอี
- หลีกเลี่ยงและป้องกันแสงแดด เช่น การทาครีมกันแดด และการใส่หมวก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ เช่น การให้ยารูปแบบทา ยาฉีดเฉพาะที่ และยารับประทาน เช่น ยาสเตียรอยด์ และยากดภูมิชนิดต่างๆ ตามดุลพินิจของแพทย์
- การให้ยาเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม เช่น ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil)
โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็นดีแอลอีส สามารถปลูกผมได้หรือไม่?
- สามารถเข้ารับการปลูกผมได้แต่ต้องรอให้โรคดีแอลอีสงบก่อนอย่างน้อย 2-5 ปี
- ควรใช้การตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าตัวโรคอยู่ในระยะสงบแล้ว
- การไหลเวียนเลือดใต้แผลเป็นจะน้อยกว่าผิวหนังปกติ ดังนั้นข้อจำกัดของการปลูกผมบริเวณแผลเป็นคือไม่สามารถปลูกให้แน่นได้ภายใน 1 ครั้ง การปลูกแน่นจะทำให้เลือดไปเลี้ยงกราฟไม่เพียงพอ แนะนำปลูกด้วยความหนาแน่นต่ำๆแล้วค่อยปลูกซ้ำเพื่อเพิ่มความหนาแน่นอีก 1-2 ครั้ง
- การปลูกผมบนแผลเป็น อัตราการการรอดของกราฟจะน้อยกว่าการปลูกผมปกติ ค่าเฉลี่ยการรอดของกราฟประมาณ 40-70% ขึ้นกับความรุนแรงของแผลเป็น
- หลังปลูกผม ตัวโรคสามารถกลับมากำเริบได้ อาจส่งผลให้ผมที่ปลูกถูกทำลายได้ ดังนั้นควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง