• ไทย
  • English
  • 中文 (中国)
  • ພາສາລາວ
0
Your Cart
0
Your Cart
  • ไทย
  • English
  • 中文 (中国)
  • ພາສາລາວ

โรคผมร่วงเป็นหย่อม Alopecia Areata

       โรคผมร่วงเป็นหย่อม  (Alopecia Areata) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไปทำลายเซลล์รากผมของตัวเอง (Autoimmunity) ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม อาจจะมีหย่อมเดียว หรือหลายๆหย่อมก็ได้ และสามารถเกิดได้กับรากผมหรือขนทุกส่วนของร่างกาย เช่น ขนตา ขนคิ้ว ขนรักแร้ และขนหัวหน่าว  ในรายที่มีอาการมาก คือ ผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) มีขนบริเวณอื่นของร่างกายร่วงจนหมดร่วมด้วย (Alopecia Univesalis) 

      โรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจพบร่วมกับโรคกลุ่มแพ้ภูมิตัวเองกลุ่มอื่นๆได้ เช่นโรคภูมิแพ้ โรหอบหืด โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว และมีรายงานว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆกัน สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิดเฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน  มีรายงานว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถถูกกระตุ้นให้กำเริบด้วยเชื้อโคโรนาไวรัส-19 และ พบได้ในผู้ที่มีปัญหาผมร่วงหลังฉีดวัคซีนโควิดชนิด mRNA

โรคผมร่วงเป็นหย่อม

ลักษณะอาการโรคผมร่วงเป็นหย่อม

  1. ผมร่วงเป็นหย่อม ขอบเขตชัด เป็นรูปวงกลมหรือวงรี  
  2. กรณีเป็นมาก ผมร่วงเป็นหย่อมจะเป็นทั้งศีรษะ เรียกว่า alopecia totalis
  3. บริเวณที่ผิวหนังที่ผมร่วงมีลักษณะเรียบเลี่ยน ไม่มีการอักเสบแดงหรือลอกเป็นขุย
  4. คนไข้บางรายเส้นผมอาจเปลี่ยนเป็นสีขาวร่วมด้วย เนื่องจากโรคนี้มีผลต่อเซลล์ที่สร้างเม็ดสีของผม  
  5. ส่องกล้อง Dermoscope พบเส้นผมขนาดสั้นเรียวเล็กคล้ายเครื่องหมายตกใจ  
  6. ในคนไข้บางรายอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย เช่นเล็บเป็นหลุม พบได้ 10-60%
  7. ในบางรายที่เป็นโรคนี้ เส้นผมอาจไม่ได้หายไปเป็นหย่อม แต่ผมจะร่วงและบางลงทั่วๆ ศีรษะ เรียกว่า Diffuse alopecia areata และ Alopecia areata incognita ซึ่งทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการตรวจร่างกายด้วยกล้องส่องรากผมโดยเฉพาะ

ลักษณะของโรคผมร่วงเป็นหย่อมเมื่อส่องกล้อง Dermoscope 

ที่มา : www.researchgate.net

การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม

  1. ผมร่วงเป็นหย่อมสามารถหายเองภายใน 6 เดือน กรณีที่ผมร่วงบริเวณกว้างมักไม่หายเอง ต้องได้รับการรักษา
  2. การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรคและดุลพินิจของแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
    • การฉีดยาลดการอักเสบบริเวณผมที่ร่วง ทุก 4 – 6 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการรักษาหลักในรายที่เป็นไม่มาก
    • การฉีดยาลดการอักเสบเข้าร่างกาย โดยขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
    • ทายากลุ่มสเตียรอยด์ที่มีความแรงระดับปานกลางขึ้นไป
    • รับประทานยา ทายากระตุ้นรากผม กลุ่ม Minoxidil เพื่อกระตุ้นการงอกของเส้นผม
    • ทายากดภูมิคุ้มกัน เช่น Anthralin, DPCP
    • การฉายแสง UVA
    • การรับประทานยากดภูมิคุ้มกันในรายที่เป็นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก
    • ระหว่างการรักษา แนะนำใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน เพื่อลดความเสี่ยงผมร่วงจากการแพ้แชมพู

“เคสตัวอย่าง Alopecia totalis ผมร่วงทั้งศีรษะ หลังได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาลดการอักเสบทุก 4 สัปดาห์ หลังรักษา 6 เดือน ผมกลับมางอกปกติ “

การพยากรณ์โรคผมร่วงเป็นหย่อม  

ส่วนใหญ่แล้วการพยากรณ์โรคดี ยกเว้นในกรณีต่อไปนี้

  1. บริเวณผมร่วงเกิน 50% ของพื้นที่หนังศีรษะ 
  2. ผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือผมและขนร่วงทั้งร่างกาย (Alopecia Universalis)
  3. ระยะเวลาการดำเนินของโรคเกิน 1 ปี
  4. มีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย
  5. คนไข้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองร่วมด้วย
  6. ผมร่วงเป็นแถบบริเวณชายผมโดยรอบ (Ophiasis) 
  7. ประวัติเป็นซ้ำหลายครั้ง
  8. ช่วงอายุที่ผมร่วงเป็นหย่อมเกิดก่อนวัยรุ่น 

ข้อแนะนําสำหรับคนไข้โรคผมร่วงเป็นหย่อม

  • คนไข้ 30-50% อาจหายได้เองภายใน 6 เดือน – 1 ปี
  • กรณีต้องเข้ารับการรักษา แนะนำติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 6 เดือน – 1 ปี
  • โรคนี้มื่อหายแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หรือมีผมร่วงเป็นหย่อมใหม่บริเวณอื่นได้ ดังนั้นควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากมีผมร่วงเป็นหย่อมเกิดใหม่ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อนลุกลาม
  • ภาวะการเจ็บป่วยและอาการเครียดอาจกระตุ้นให้เป็นโรคมากขึ้น 
  • หากผมร่วงเป็นหย่อมรุนแรงแนะนำคนไข้สวมวิก/แฮร์พีชร่วมด้วยขณะทำการรักษา

*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*

บทความแนะนำ : ผมร่วงหลังติดเชื้อโควิด