โรค ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์หรือ หัวล้าน มีชื่อทางการแพทย์ว่า androgenic alopecia พบในคนที่มีพันธุกรรมผมบางในครอบครัว โดยเฉพาะฝ่ายมารดา เริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยฮอร์โมนเพศชายชื่อว่า DHT จะไปทำลายรากผมที่แข็งแรง ทำให้เส้นผมมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายรูขุมขนปิด เกิดเป็นภาวะศีรษะล้านในที่สุด


โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ต้องรักษาอย่างเนื่องเพื่อชะลอภาวะศีรษะล้านให้นานที่สุด สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา ซึ่งจะช่วยยับยั้งฮอร์โมน DHT ที่มาทำลายรากผม ทำให้คงสภาพเส้นผมให้แข็งแรง ไม่หลุดร่วงจนล้านตามกรรมพันธุ์ หากต้องการมีเส้นผมที่แข็งแรงตลอด แนะนำบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง หากหยุดรักษาอิทธิพลของกรรมพันธุ์ก็จะทำให้ผมกลับมาร่วงและบางอีก หากไม่รักษาเลยผมก็จะค่อยๆบางลงและล้านในที่สุด สุดท้ายจะเหลือแค่ผมบริเวณแถบด้านหลังที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมนเพศชาย DHT
ระยะของโรคผมบางศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์
ระยะของโรคผมบางมี 7 ระยะ หรืออาจจะแบ่งง่ายๆเป็น 4 ประเภทตามรูปแบบการเริ่มล้านของศีรษะ ดังนี้ Type A จะค่อยๆล้านจากบริเวณด้านหน้าร่นขึ้นไปเรื่อยๆ คล้ายๆผมทรงแมนจู, Type O คือผมเริ่มบางจากตรงกลางศีรษะ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เรียกกันว่า ผมบางไข่ดาว, Type M คือผมจะเริ่มบางจากง่ามผมทั้ง2 ข้าง ขยับลึกขึ้นไปเรื่อยๆคล้ายตัว M, Type O+M คือผมจะเริ่มบางพร้อมๆกันทั้งบริเวณตรงกลางศีรษะและตรงง่ามผม


การรักษา
- การรักษาด้วยการรับประทานยา
รับประทานยาที่ลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย DHT โดยยาที่มีงานวิจัยรองรับและผ่านการรับรองว่าช่วยรักษาโรคผมบางกรรมพันธุ์ได้คือยา Finasteride วันละ1 มิลลิกรัม ร่วมกับการทายาหรือรับประทานยากลุ่ม Minoxidil ที่มีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตบริเวณหนังศีรษะ ทำให้ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมและช่วยเสริมฤทธิ์กับยา Finasteride นั่นเอง ส่วนการรักษาเสริมอื่นๆ คือการรับประทานวิตามินที่มีส่วนผสมที่ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมและลดผมร่วง
แชมพูที่แนะนำในคนไข้โรคนี้คือ 2% คีโตโคนาโซลแชมพู เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าช่วยลดการอักเสบบริเวณหนังศีรษะ ลดความมันส่วนเกิน และที่สำคัญคือลดการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชายบริเวณรากผมได้อีกด้วย แนะนำสระฟอกบริเวณหนังศีรษะทิ้งไว้ 3-5 นาทีให้ยาออกฤทธิ์และล้างออก ความถี่ในการใช้ 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ไปตลอดการรักษา

- นวัตกรรมบำรุงรากผมด้วย Growth factor
สำหรับบางรายที่รักษาด้วยการทายาหรือรับประทานยาและยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามความต้องการอีกทางเลือกที่สามารถทำควบคู่กับการรักษาหลักคือ PRP/PRF ซึ่งเป็นนวัตกรรมบำรุงรากผมโดยการสกัดเกล็ดเลือดเข้มข้นจากพลาสมา ที่จะทำให้ได้สาร Growth factor จากเลือดของคนไข้เอง แล้วนำมาฉีดบริเวณผมที่บาง โดยการฉีด PRP/PRFเป็นที่ยอมรับและมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสามารถรักษาปัญหาผมร่วงได้
อีกนวัตกรรมเฉพาะที่คลินิกเวชกรรมเกศาคือ PLACENTECH ซึ่งเป็นการสกัด Growth factor จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้ได้ Growth factor ที่มีความเข้มข้นสูง ผ่านมาตรฐานการแพทย์ นำมาฉีดยังบริเวณที่มีปัญหาผมบาง

แสงเลเซอร์ความถี่ต่ำLow level laser therapy เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน โดยกลไกการทำงานคือ แสงเลเซอร์จะปลดปล่อยพลังงานที่จำเพาะกับรากผม ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้รากผมแข็งแรง ลดผมร่วง และช่วยรักษาภาวะผมบางได้ โดยปัจจุบันมีการผลิตหมวกเลเซอร์ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยแนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์ แนะนำทำควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน

- การรักษาด้วยการปลูกผมถาวร
คือการย้ายรากผมบริเวณท้ายทอย ที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมนเพศชายมาปลูกบริเวณที่ต้องการ หลังปลูกผม ผมที่ย้ายมาจะค่อนข้างทนต่อฮอร์โมน DHT แต่ผมส่วนที่ไม่ได้ปลูกจะยังบางต่อเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ดังนั้นหลังปลูกผมในกรณีผมบางกรรมพันธุ์ ต้องแนะนำให้คนไข้ทานยาต่อเนื่องเพื่อคงสภาพผมไปตลอด

- การสักอณูไรผม Kesa Ink Transplantation (KIT)
เป็นการฝังสีทางการแพทย์ลงบนหนังศีรษะ เลียนแบบตอผมทีละจุดๆ เหมาะกับคนไข้ที่ศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ระยะ 6-7 ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าไม่สามารถปลูกผมได้ หรือในรายที่ผมบางแต่ยังไม่ล้าน ก็สามารถรับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานร่วมกับการทำ KIT ได้เช่นกัน
ปกติแล้วในคนไข้ผมบาง การรักษาตามมาตรฐานต้องใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไปกว่าจะเห็นผลลัพธ์ ทำให้คนไข้บางรายที่ผมบางมาก ไม่มีความมั่นใจในการใช้ชีวิต กรณีนี้หมอจะแนะนำทำ KIT ควบคู่กับการรักษาหลัก การฝังเม็ดสีเป็นวิธีที่เห็นผลเร็ว ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คนไข้ได้ทันที แต่การรักษาตามตัวโรคก็ยังต้องทำควบคู่กันเพื่อไม่ให้ผมบางมากขึ้นเรื่อยๆจนล้านนั่นเอง

เป้าหมายของการรักษาโรค
จุดประสงค์ของการรักษาโรคคือการคงสภาพเส้นผมให้มีการเจริญเติบโตปกติ ชะลอการปิดของรูขุมขนให้นานที่สุด เส้นผมที่บางนั้น แปลว่ายังมีรูขุมขนอยู่ คนไข้ต้องคอยบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นเส้นผมจะค่อยๆบางลงเรื่อยๆจนล้านไปตามอิทธิพลของพันธุกรรม รูขุมขนส่วนที่ปิดไปแล้วจะไม่สามารถทำให้กลับมางอกได้อีก ในกรณีเกิดพื้นที่ล้านจะใช้การปลูกผม
“คำถามของคนไข้โรคนี้คือ ต้องใช้เวลารักษานานแค่ไหนและหยุดรักษาผมจะกลับมาบางหรือไม่ คำตอบคือ โรคผมบางนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นคนไข้ต้องคอยบำรุงรักษาไปตลอด หากหยุดรักษาผมก็จะกลับมาบางตามเดิม หากปล่อยทิ้งไว้นานๆรูขุมขนก็จะปิดจนเกิดพื้นที่ล้านในที่สุด”
โรคผมบางกลางศีรษะ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยแชมพูหรือเซรั่มตามท้องตลาด มีคนไข้หลายรายลองผิดลองถูกกับการรักษาด้วยตนเอง จนผมที่บางกลายเป็นศีรษะล้าน ทำให้ไม่สามารถรักษาได้แล้ว ดังนั้นหากใครเป็นโรคนี้ หมอแนะนำว่าควรรีบรักษากับแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคงสภาพเส้นผมให้แข็งแรง เพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน กรณีอายุมากและพิจารณาแล้วว่าภาวะผมบางไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ค่อยหยุดรักษาและปล่อยให้ผมบางไปตามพันธุกรรมที่ควรจะเป็นก็ได้ค่ะ
*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*