สาวๆ หลายคนคงมีประสบการณ์ ผมร่วง การใช้ ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อคุมกำเนิด หรือใช้รักษาโรค เช่น รักษาสิวระดับรุนแรง ใช้ปรับฮอร์โมนในโรคเกี่ยวกับระบบสูตินรีเวช ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดที่เกิดขึ้นจะขึ้นกับว่าเป็นยาคุมกำเนิดชนิดใด บางคนเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดอาจเจอปัญหาผมร่วงผิดปกติได้ นั่นเป็นเพราะยาคุมกำเนิดส่งผลต่อฮอร์โมนของร่างกายทำให้มีผลกับวงจรของรากผมนั่นเอง วันนี้ #Kesahair จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ปัญหากันค่ะ
- วงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจวงจรของรากผมเบื้องต้นก่อน ปกติรากผมของมนุษย์จะมีอยู่ 3 ระยะ ดังนี้
- Anagen phase ระยะเติบโต มีประมาณ 90% เป็นระยะรากผมที่มีอายุเฉลี่ย 3 ปี
- Catagen phase ระยะหยุดเติบโต มีไม่เกิน 1% เป็นระยะรากผมที่มีอายุ 2-3 สัปดาห์
- Telogen phase ระยะหลุดร่วง มีประมาณ 10 % เป็นระยะรากผมที่มีอายุขัยประมาณ 3 เดือนแล้วค่อยหลุดร่วงไป ดังนั้นในแต่ละวันจะมีผมร่วงประมาณ 50-100 เส้นเป็นเรื่องปกติ
ความเชื่อมโยงระหว่าง ยาคุมกำเนิด กับผมร่วง
ผมร่วงในระหว่างการใช้ ยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิด บางชนิดเมื่อรับประทานต่อเนื่องทำให้ผมร่วงได้มากขึ้น เนื่องจากยาคุมมีปริมาณโปรเจสตินที่สูง ซึ่งโดยปกติฮอร์โมนโปรเจสตินจะสามารถออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่าแอนโดรเจน (androgenic effects) ทำให้มีการแสดงออกคล้ายเพศชายเช่น สิว ขนบริเวณหนวดเข้ม และผมร่วงนั่นเอง ดังนั้นหากใครมีปัญหาผมร่วงหลังจากการใช้ยาคุมที่มีโปรเจสตินสูง หมอแนะนำลองปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อเปลี่ยนกลุ่มยาคุมกำเนิดดูค่ะ
ผมร่วงในช่วงที่เริ่มใช้ ยาคุมกำเนิด และ หลังหยุด ยาคุมกำเนิด
ในช่วงแรกที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนต่างๆในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ร่างกายจะมีการปรับตัวทำให้วงจรการงอกของผมเปลี่ยนไปดังนี้ รากผมระยะเติบโต (Anagen Phase) เปลี่ยนเป็นผมระยะหลุดร่วง (Telogen Phase) มากขึ้น ทำให้ปริมาณผมที่ร่วงในแต่ละวันสูงกว่าปกตินั่นเอง เรียกภาวะนี้ว่า ผมร่วงทั้งศีรษะจากมีสาเหตุกระตุ้น(Telogen effluvium)
ส่วนผมร่วงหลังหยุดยาคุมกำเนิดเป็นนภาวะที่เจอได้บ่อยกว่าโดยกลไกการเกิดผมร่วงเกิดจากร่างกายหลังจากที่มีการรับประทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่อง เมื่อหยุดใช้ยาคุมกำเนิดจะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันที ส่งผลให้เกิดภาวะผมร่วง Tologen Effluvium เช่นเดียวกับที่อธิบายไปข้างต้นนั่นเอง
- วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะผมร่วงจากยาคุมกำเนิด
แม้ว่าอาการผมร่วงจากยาคุมกำเนิดจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่การที่ผมร่วงมากขึ้นในทุกวันสามารถส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมได้ การปฏิบัติตัวในช่วงที่มีความเครียดจากภาวะผมร่วง ควรเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพจากภายในก่อน เช่น การรับประทานวิตามิน เพื่อป้องกันการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ สดใหม่ เช่น ผักและผลไม้ที่อุดม วิตามิน แร่ธาตุ และอย่าลืมรับประทานโปรตีนและแคลอรี่ให้เพียงพอก็มีส่วนช่วยป้องกันภาวะผมร่วงได้
ความเครียดทำให้ผมร่วงได้ เพราะความเครียดส่งผลให้รากผมระยะ Anagen Phase หยุดการเจริญติบโต ดังนั้นพยายามลดความเครียดให้น้อยที่สุด สุดท้ายหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายเส้นผม อาทิ การใช้ความร้อนที่รุนแรง การใช้สารเคมี การจัดแต่งทรงผม หรือการปฏิบัติอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อเส้นผม และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อเส้นผม จะช่วยส่งผลลดการหลุดร่วงได้เช่นกัน
- วิธีการรักษาภาวะผมร่วงจากยาคุมกำเนิด
หากใครกำลังมีปัญหาผมร่วงจากการใช้ยาคุมกำเนิด โดยอาการไม่ดีขึ้นเอง แนะนำพบแพทย์เพื่อรับการรักษาดังนี้
- เปลี่ยนชนิดยาคุมกำเนิด
หากสาเหตุของผมร่วงเกิดจากยาคุมกำเนิด แพทย์มักแนะนำให้เปลี่ยนชนิดยาคุมกำเนิด หรืออาจจะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดแบบที่ไม่ใช้ฮอร์โมนแทน เช่น ถุงยางอนามัย
- รับประทานวิตามินบำรุงผมและใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน
แนะนำวิตามินบำรุงผมเช่น ซิงค์ ไบโอติน และธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยให้รากผมแข็งแรงและทำให้วงจรการงอกของเส้นผมกลับมาปกติเร็วขึ้นได้ ในช่วงผมร่วงหมอแนะนำให้เลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนที่ไม่มีสารก่อการระคายเคือง เช่น น้ำหอม ซิลิโคน พาราเบน ซัลเฟต ก็จะช่วยถนอมหนังศีรษะและไม่ทำให้ผมร่วงเพิ่มเติมจากการแพ้แชมพูได้
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากรากโสม
โสมมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตของหนังศีรษะ กระตุ้นการทำงานของ DP cell (Dermal papilla cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สำคัญในการงอกของเส้นผม ช่วยยืดอายุผมระยะเติบโตให้นานขึ้น และยังช่วยยับยั้งฮอร์โมนเพศชายDHT บริเวณรากผม ส่งผลให้ผมร่วงน้อยลง
- Minoxidil รูปแบบทา/ทาน
กรณีผมร่วงไม่ดีขึ้นเอง และมีปัญหาร่วงจนเกิดภาวะผมบาง แนะนำใช้การรักษาด้วยยากลุ่ม Minoxidil ที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และกระตุ้นการเกิดใหม่ของรากผมระยะเติบโต (Anagen phase) และยืดอายุให้ผมระยะเติบโตอยู่ได้นานมากขึ้น ส่งผลให้กระตุ้นการงอกของเส้นผมและลดผมร่วงได้
- PRP/PRF/PLACENTECH
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการใช้โกรทแฟคเตอร์สกัดไม่ว่าจะสกัดจากเลือดของคนไข้เองเช่น PRP/PRF matrix หรือสกัดจากห้องปฏิบัติการ เช่น PLACENTECH สามารถช่วยฟื้นฟูรากผมที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรง และช่วยลดผมร่วงได้
แสงเลเซอร์ความถี่ต่ำLow level laser therapy เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน โดยกลไกการทำงานคือ แสงเลเซอร์จะปลดปล่อยพลังงานที่จำเพาะกับรากผม ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้รากผมแข็งแรง ลดผมร่วง และช่วยรักษาภาวะผมบางได้ โดยปัจจุบันมีการผลิตหมวกเลเซอร์ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยแนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์
*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัท เกศา กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*