หลังจากที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาการระบาดของโรค โควิด 19 มานานกว่า 2 ปี หลายคนที่เข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด 19 มีปัญหา ผมร่วง ผิดปกติ บางคนผมบางลงอย่างชัดเจน จึงมีคำถามมากมายว่าภาวะผมร่วงเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ฉีดหรือไม่ บทความนี้หมอจะสรุปความสัมพันธ์ของวัคซีนโควิด19 กับภาวะผมร่วงผิดปกติที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ให้อ่านกันค่ะ
ภาวะผมร่วงหลังฉีดวัคซีนโควิด19 มี 2 สาเหตุ ดังนี้
1. ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata)
ผมร่วงเป็นหย่อมเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไปทำลายเซลล์รากผมของตัวเอง (Autoimmunity) เชื่อว่าวัคซีนโควิด19 มีกระบวนการเลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเองทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณเซลล์รากผม ส่งผลให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมแบบฉับพลัน อาจจะมีหย่อมเดียว หรือหลายๆหย่อมก็ได้ ในบางรายหากเป็นรุนแรงผมจะร่วงทั่วศีรษะ เรียกว่า alopecia totalis
มักเกิดกับบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมอยู่แล้ว เมื่อรับการฉีดวัคซีนจึงไปกระตุ้นให้ตัวโรคที่ซ่อนอยู่แสดงอาการออกมาได้, ในบางรายที่เคยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมมาก่อนรักษาหายแล้ว ก็จะถูกกระตุ้นให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อมซ้ำได้อีก หรือผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่กำลังเป็นอยู่อาจจะมีอาการมากขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด19 โดยอาจจะเกิดภาวะผมร่วงเป็นหย่อมตั้งแต่วัคซีนเข็มแรก หรือเป็นจากเข็มกระตุ้นถัดๆไปก็ได้
ในบางรายที่เป็นโรคนี้ เส้นผมอาจไม่ได้หายไปเป็นหย่อม แต่ผมจะร่วงและบางลงทั่วๆ ศีรษะ เรียกว่า Diffuse alopecia areata และ Alopecia areata incognita ซึ่งทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการตรวจร่างกายด้วยกล้องส่องรากผมโดยเฉพาะ
2. ผมร่วงทั่วศีรษะฉับพลัน (Acute Telogen effluvium)
คือภาวะผมร่วงฉับพลันหลังจากที่ร่างกายเจอสิ่งกระตุ้น แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าวัคซีนโควิด19 กระตุ้นให้เกิดผมร่วงทั่วศีรษะผ่านกลไกใด แต่สันนิษฐานว่าวัคซีนโควิด19 อาจจะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เลียนแบบการติดเชื้อโควิด ส่งผลให้ผมระยะเติบโตเปลี่ยนเป็นผมระยะหลุดร่วงทันที ทำให้เกิดภาวะผมร่วงฉับพลันภายใน 1-3 เดือนหลังได้รับวัคซีนโควิด โดยอาจจะเกิดภาวะผมร่วงตั้งแต่วัคซีนเข็มแรก หรือเป็นจากเข็มกระตุ้นถัดๆไปก็ได้ ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะเดียวกับผมร่วงหลังคลอดและผมร่วงหลังการติดเชื้อโควิด19 นั่นเองโดยผมจะร่วงเยอะผิดปกติ โดยร่วงได้ถึงวันละ 150-700 เส้น ทำให้ผมดูบางลงทั่วทั้งศีรษะ
“ ผมร่วงเป็นหย่อม และ ผมร่วงทั่วศีรษะ วินิจฉัยได้โดยการตรวจร่างกายด้วย กล้องส่องรากผม Trichoscope”
การรักษาผมร่วงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19
1. ผมร่วงเป็นหย่อม(Alopecia areata)
- ผมร่วงเป็นหย่อมสามารถหายเองภายใน 6 เดือน กรณีที่ผมร่วงบริเวณกว้างมักไม่หายเองต้องได้รับการรักษา
- การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของตัวโรคและดุลพินิจของแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
-
- การฉีดยาบริเวณรอยโรค ทุก 4 – 6 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการรักษาหลักในรายที่เป็นไม่มา
- ทายากลุ่มสเตียรอยด์ที่มีความแรงระดับปานกลางขึ้นไป
- ทายากระตุ้นรากผม 3-5% Minoxidil lotion
- ทายากดภูมิคุ้มกัน เช่น anthralin, DPCP
- การฉายแสง UVA
- การรับประทานยากดภูมิคุ้มกันในรายที่เป็นรุนแรง
2. ผมร่วงทั่วศีรษะฉับพลัน (Acute Telogen effluvium)
- ผมร่วงทั่วศีรษะฉับพลันมักหายได้เองภายใน 6 เดือน
- เจาะเลือดหาสาเหตุผมร่วง
หากผมร่วงทั่วศีรษะหลังฉีดวัคซีนโควิด19 เป็นนานเกิน 6 เดือนหรือผมร่วงรุนแรงจนผมบาง แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุผมร่วงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นร่วมกันได้ เช่นโรคไทรอยด์ โรคโลหิตจาง ภาวะพร่องธาตุเหล็ก โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- รับประทานวิตามินบำรุงผมและใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน
งานวิจัยพบว่าคนที่มีปัญหาผมร่วงทั่วศีรษะ Telogen effluvium มักมีปัญหาพร่องธาตุเหล็กร่วมด้วย ดังนั้นแนะนำรับประทานวิตามินบำรุงผมที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็กและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อรากผมอื่นๆ เช่น ซิงค์ ไบติน จะช่วยให้วงจรการงอกของเส้นผมกลับมาปกติเร็วขึ้นได้
ในช่วงผมร่วงหมอแนะนำเลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนที่ไม่มีสารก่อการระคายเคือง เช่น น้ำหอม ซิลิโคน พาราเบน ซัลเฟต ก็จะช่วยถนอมหนังศีรษะและไม่ทำให้ผมร่วงเพิ่มเติมจากการแพ้แชมพูได้
- Minoxidil รูปแบบทา/รับประทาน
กรณีผมร่วงไม่ดีขึ้นเอง และมีปัญหาร่วงจนเกิดภาวะผมบาง แนะนำใช้การรักษาด้วยยากลุ่ม Minoxidil ที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และกระตุ้นการเกิดใหม่ของรากผมระยะเติบโต(Anagen phase)และยืดอายุให้ผมระยะเติบโตอยู่ได้นานมากขึ้น ส่งผลให้กระตุ้นการงอกของเส้นผมและลดผมร่วงได้
- PRP/PRF/PLACENTECH
ปัจจุบันมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการใช้โกรทแฟคเตอร์สกัดไม่ว่าจะสกัดจากเลือดของคนไข้เองเช่น PRP/PRF matrix หรือสกัดจากห้องปฏิบัติการ เช่น PLACENTECH สามารถช่วยฟื้นฟูรากผมที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรง และช่วยลดผมร่วงได้
- รักษาผมร่วงด้วยแสงเลเซอร์ LLLT
แสงเลเซอร์ความถี่ต่ำLow level laser therapy เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน โดยกลไกการทำงานคือ แสงเลเซอร์จะปลดปล่อยพลังงานที่จำเพาะกับรากผม ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้รากผมแข็งแรง ลดผมร่วง และช่วยรักษาภาวะผมบางได้ โดยปัจจุบันมีการผลิตหมวกเลเซอร์ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยแนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์
เอกสารวิชาการอ้างอิง : https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/dth.15433
*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*