ผมบางกลางศีรษะในเพศหญิง เป็นโรคผมบางชนิดหนึ่ง ทางการแพทย์เรียกว่า Female patten hair loss หรือที่เรียกว่า ผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะในเพศหญิง หรือบางชื่อเรียกว่า ผมบางพันธุกรรม โดยโรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
สาเหตุ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจเกิดจากหลายๆสาเหตุรวมกัน, พันธุกรรมผมบางศีรษะล้านในครอบรัว, ภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง(Hyperandrogenism) เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS, เนื้องอกที่รังไข่, เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หรืออาจไม่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชายก็ได้
การดำเนินของโรค
เริ่มแสดงอาการผมบางได้ 2 ช่วงอายุดังนี้
- Early onset คือภาวะผมบางเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุน้อย มักเริ่มมีอาการผมบางในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน เช่นโรคโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS, บางรายไม่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายเกินแต่มีประวัติพันธุกรรมผมบางที่รุนแรง เช่น คนในครอบครัวศีรษะล้านหรือผมบางตั้งแต่อายุยังน้อยเหมือนกัน
- Late onset คือภาวะผมบางเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งกลุ่มนี้มักไม่มีสาเหตุ ไม่ค่อยพบว่ามีภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน และไม่จำเป็นต้องมีประวัติผมบางทางพันธุกรรมก็ได้
อาการ
ส่วนใหญ่ผมจะบางทั่วๆตรงกลางศีรษะโดยแนวผมบริเวณหน้าผากยังปกติ ยกเว้นกรณีผมบางแบบผู้ชาย (frontal type) จะมีผมบางบริเวณง่ามผม ในบางรายอาจมีผมบางมาถึงโซนผมด้านหน้าร่วมด้วยลักษณะคล้ายต้นคริสมาส (Christmas tree pattern)

กรณีผมบางในผู้หญิงทุกรายต้องเจาะเลือดเพื่อแยกโรคที่สามารถทำให้ผมบางได้เสมอ เช่น ภาวะโลหิตจาง, โรคไทรอยด์ต่ำ, ไทรอยด์เป็นพิษ, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคซิฟิลิส, กรณีประจำเดือนมาไม่ปกติต้องอัลตร้าซาวด์เพื่อหาโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS ร่วมด้วย
การรักษา
- Minoxidil รูปแบบทา และ รูปแบบรับประทาน Very low dose
ตัวยา Minoxidil ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดใต้หนังศีรษะ และยืดอายุผมระยะเติบโตได้ ทำให้ผมร่วงลดลง และช่วยให้รากผมกลับมาแข็งแรงขึ้น หากใช้ต่อเนื่อง ผมที่บางจะกลับมามีความหนามากขึ้น หากต้องการให้เส้นผมที่ความแข็งแรงไปตลอด จำเป้นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากหยุดใช้ยาเส้นผมจะกลับมาหลุดร่วงและบางเหมือนตอนที่ยังไม่ได้รักษา

- นวัตกรรมบำรุงรากผมด้วย Growth factor
สำหรับบางรายที่รักษาด้วยการทายาหรือรับประทานยาและยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามความต้องการอีกทางเลือกที่สามารถทำควบคู่กับการรักษาหลักคือ PRP/PRF ซึ่งเป็นนวัตกรรมบำรุงรากผมโดยการสกัดเกล็ดเลือดเข้มข้นจากพลาสมา ที่จะทำให้ได้สาร Growth factor จากเลือดของคนไข้เอง แล้วนำมาฉีดบริเวณผมที่บาง โดยการฉีด PRP/PRFเป็นที่ยอมรับและมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสามารถรักษาปัญหาผมร่วงได้
อีกนวัตกรรมเฉพาะที่คลินิกเวชกรรมเกศาคือ PLACENTECH ซึ่งเป็นการสกัด Growth factor จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้ได้ Growth factor ที่มีความเข้มข้นสูง ผ่านมาตรฐานการแพทย์ นำมาฉีดยังบริเวณที่มีปัญหาผมบาง

แสงเลเซอร์ความถี่ต่ำLow level laser therapy เหมาะกับรายที่มีปัญหาผมร่วงผมบางที่ยังไม่มีศีรษะล้าน โดยกลไกการทำงานคือ แสงเลเซอร์จะปลดปล่อยพลังงานที่จำเพาะกับรากผม ทำให้กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่งผลให้รากผมแข็งแรง ลดผมร่วง และช่วยรักษาภาวะผมบางได้ โดยปัจจุบันมีการผลิตหมวกเลเซอร์ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยแนะนำทำ 3 ครั้ง/สัปดาห์

ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีหลักแล้วไม่ดีขึ้น ร่วมกับการส่องกล้องแล้วพบว่ารูขุมขนบริเวณดังกล่าวปิดไปแล้ว กรณีนี้จะไม่สามารถทำให้ผมบริเวณนั้นกลับมางอกได้อีก แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การปลูกผมเพื่อย้ายรากผมที่แข็งแรงมาปลูกแทรกบริเวณที่บาง ทำให้ผมดูหนาขึ้นได้

- กรณีมีภาวะฮอร์โมนเพศชายเกิน (Hyperandrogenism)
ต้องรักษาสาเหตุร่วมด้วย เช่น โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS, โรคเนื้องอกที่รังไข่, โรคเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต โดยรักษาควบคู่กับการรักษาผมบางตามที่อธิบายข้างต้น
ในบางกรณีแพทย์อาจเลือกใช้ยาที่มีผลกับฮอร์โมนเพศชายมาใช้ร่วมด้วย เช่นยาขับปัสสาวะ ยาปรับฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ลดฮอร์โมนเพศชาย (Anti-androgen effect) เช่นยี่ห้อ Yaz , Yasmin, Justima, Diane, Sucee, Beriz, Belara
ส่วนยา Finasteride จะพิจารณาในหญิงวัยหมดประจำเดือน เท่านั้น

เป้าหมายของการรักษาโรค
จุดประสงค์ของการรักษาโรคคือการคงสภาพเส้นผมให้มีการเจริญเติบโตปกติ ชะลอการปิดของรูขุมขนให้นานที่สุด เส้นผมที่บางนั้น แปลว่ายังมีรูขุมขนอยู่ คนไข้ต้องคอยบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นเส้นผมจะค่อยๆบางลงเรื่อยๆจนล้านไปตามอิทธิพลของพันธุกรรม รูขุมขนส่วนที่ปิดไปแล้วจะไม่สามารถทำให้กลับมางอกได้อีก หากพื้นที่ล้านเห็นชัดเจน แพทย์อาจแนะนำการปลูกผมถาวรร่วมด้วย
“คำถามของคนไข้โรคนี้คือ ต้องใช้เวลารักษานานแค่ไหนและหยุดรักษาผมจะกลับมาบางหรือไม่ คำตอบคือ โรคผมบางนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นคนไข้ต้องคอยบำรุงรักษาไปตลอด หากหยุดรักษาผมก็จะกลับมาบางตามเดิม หากปล่อยทิ้งไว้นานๆรูขุมขนก็จะปิดจนเกิดพื้นที่ล้านในที่สุด”
โรคผมบางกลางศีรษะ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยแชมพูหรือเซรั่มตามท้องตลาด มีคนไข้หลายรายลองผิดลองถูกกับการรักษาด้วยตนเอง จนผมที่บางกลายเป็นศีรษะล้าน ทำให้ไม่สามารถรักษาได้แล้ว ดังนั้นหากใครเป็นโรคนี้ หมอแนะนำว่าควรรีบรักษากับแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อคงสภาพเส้นผมให้แข็งแรง เพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน กรณีอายุมากและพิจารณาแล้วว่าภาวะผมบางไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ค่อยหยุดรักษาและปล่อยให้ผมบางไปตามพันธุกรรมที่ควรจะเป็นก็ได้ค่ะ
*บทความลิขสิทธิ์ โดย บริษัทเกศากรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด*